posttoday

ปรับจีดีพีปีนี้หดตัว 10%

28 สิงหาคม 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเศรษฐกิจปีนี้หดตัว 10% ฟื้นตัวลักษณะ U-Shaped ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงแรมและภัตตาคาร ยังน่าห่วง

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 มาที่ -10% จากเดิมที่ -6% ขณะที่ มองว่าความไม่แน่นอนดังกล่าว จะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped) ซึ่งการจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น กลายเป็นโจทย์ยากของทางการไทยที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสฯ เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้ ส่วนด้านนโยบายการเงิน คาดว่า กนง.คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายและเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะช่วงหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ฯ ในช่วงปลายไตรมาส 3

ด้านภาคการเงิน นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ คาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 จะขยายตัว 6.5-8.0% เทียบกับที่ขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งการเติบโตสูงกว่าปกติ สะท้อนผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแท้จริงโดยยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้ที่ระดับเอ็นพีแอลคงจะขยับขึ้นเข้าหา 3.5% ณ สิ้นปี 2563 เทียบกับ 3.23% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ขณะที่แม้ภาครัฐจะต้องระดมทุนอีกจำนวนมากในตลาดการเงิน แต่เชื่อว่าเครื่องมือของธปท.ที่มีอยู่จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้กระทบอัตราดอกเบี้ยในระบบได้ และปัจจุบันเงินฝากธนาคารพาณิชย์ก็เติบโตสูงราว 9-10% จากปีก่อน

นอกจากนี้ รัฐบาลคงจะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานไปในตัว หลังจากในช่วง 6-8 เดือนแรกได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องต่าง ๆ ราว 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งประสิทธิผลของมาตรการเพิ่มเติมขึ้นกับระดับการลดความเสี่ยงเครดิตของลูกค้า หรือการผ่อนปรนเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับสถาบันการเงิน ส่วนความเข้มแข็งของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น มีสถานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5-9.5% และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ อีกทั้งมีสภาพคล่องในระดับสูง ทำให้มั่นใจว่ายังทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการประคองลูกค้าผ่านวิกฤตได้

ส่วนแนวโน้มธุรกิจนั้น นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มองว่า สถานการณ์รายได้ของธุรกิจ แม้จะมีบางพื้นที่ที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างตามนโยบายทยอยเปิดประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ภาวะปกติ โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนกิจการที่มีความเปราะบาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งคงเป็นกลุ่มที่ทางการอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง