posttoday

รัฐบาลถังแตก ความจริงที่หนีไม่พ้น

21 สิงหาคม 2563

"รัฐบาลถังแตก" เป็นคำแสลงใจรัฐบาล ได้ยินที่ไรรัฐบาลของขึ้นทุกครั้ง และต้องออกมาปฏิเสธทันควันว่าไม่จริง

คำว่า ถังแตก ความหมายตามพจนานุกรม เป็น คำวิเศษณ์(ภาษาปาก) หมาย ไม่มีเงิน, หมดตัว, ยากจน

หากเป็น คำนาม เป็น ชื่อขนม ทำด้วยแป้ง ตักหยอดลงในพิมพ์กลมมีขอบ เมื่อสุกโรยมะพร้าวขูดกับน้ำตาลทรายผสมงา พับครึ่งแล้วแซะออกจากพิมพ์

ขนมดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยจำนวนมาก เพราะราคาถูก ทานอร่อย และเป็นที่มาการหยอกล้อกันของคนที่ชอบกินขนมนี้ว่า ถังแตก มีเงินน้อย ไม่มีเงิน ใช่ไหม ถึงต้องซื้อขนมถังแตกทาน

กลับมาที่ รัฐบาลถังแตก ว่า หากนิยามตามความหมายข้างต้น รัฐบาลถือว่าถังแตกหรือยัง?

หากนับคำว่า ไม่มีเงิน หมดตัว ยากจน ก็ต้องถือว่ารัฐบาลถังแตกแล้ว ไม่มีเงินรายได้ หมดตัว ยากจน แต่ที่อยู่ได้เพราะรัฐบาลสามารถกู้เงินมาโป๊ะถังแตก ทำให้ประเทศยังมีเงินใช้จ่ายได้ต่อไป

และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน คำว่ารัฐบาลถังแตกมีมาทุกรัฐบาล เพราะประเทศไทยทำงบประมาณแบบขาดดุลมายาวนานกว่า 10 ปี แล้ว ซึ่งหมายถึงทุกรัฐบาลหารายได้ไม่พอรายจ่าย และต้องกู้เงินมาใช้ จนหนี้ของประเทศไทยสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ รัฐบาลถังแตก ในรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง เพราะโชคร้ายมาเจอปัญหาโควิด-19 ระบาดหนักส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยทรุดสาหัส ทำให้ต้องหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ จนต้องออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ให้ ธปท. ออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้ธปท. ตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้อีก 4 แสนล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

ที่ร้อนล่าสุด คือ งบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท แสนล้านบาท รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มวงเงินดังกล่าว ก็ยังไม่พอใช้ทำให้เงินคงคลังเหลือน้อย เพราะโควิดทำให้การเก็บรายได้ของรัฐบาลวืดเป้าไปถึง 3-4 แสนล้านบาท

ส่งผลให้คลังได้ขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ตามภาษากฎหมายพ.ร.บ. งบประมาณ

แต่หากพูดภาษาง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลกู้เงินชดเชยขาดดุลเพิ่มนั้นเอง เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย เงินที่กู้มาก้อนแรกก็ยังไม่พอรายจ่าย จนต้องขอกู้รอบใหม่ เป็นที่มาของรัฐบาลถังแตกอีกรอบ

ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องยอมรับว่า รัฐบาลถังแตกจริง และถังแตกมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ เพราะการขอกู้เงินเพื่อนำไปใช้ กรณีที่รายจ่ายมากกว่าเก็บรายได้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำกันทุกปี ต้องเป็นกรณีที่วิกฤตจริงๆ ถึงจะทำกัน เพราะหากไม่ทำเงินอาจจะไม่พอจ่ายเงินเดือนข้าราชการในที่สุด

การที่รัฐบาลออกมาโต้ว่า รัฐบาลถังไม่แตก โดยอ้างว่ารัฐบาลยังมีเงินใช้จ่ายในการลงทุนและจ่ายเงินเดือนข้าราชการ โดยไม่มีปัญหา แต่รัฐบาลไม่ได้อธิบายว่าเงินนั้นมาจากกู้เงินเพิ่มมาใช้

หากรัฐบาลถังไม่แตกจริง รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่า หากไม่กู้เงินฉุกเฉิน 2.14 แสนล้านบาท จะมีเงินจ่ายเพื่อการลงทุนและจ่ายเงินเดือนข้าราชการใน 2 เดือน สุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 หรือเดือน ส.ค. และ ก.ย. นี้หรือไม่

หากไม่กู้เงินแล้วมีปัญหาดังกล่าว รัฐบาลก็ถังแตก เป็นความจริงที่หนีไม่พ้น

รัฐบาลถังแตก ยังหลอนรัฐบาลนี้ไปถึงปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 6 แสนล้านบาท ซึ่งการเก็บรายได้คาดว่าไม่ได้ตามเป้าไว้เหมือนปี 2563 ทำให้รัฐบาล จะต้องกู้เงินฉุกเฉินเพิ่มเติมกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้อีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปฏิเสธว่า รัฐบาลถังไม่แตก เพราะไม่ใครเชื่อ ตราบใดที่รัฐบาลยังเอาแต่กู้เงินเพื่อมาใช้จ่าย โดยไม่ยอมเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรายได้ หรือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในยามนี้ไปก่อน คำว่า "รัฐบาลถังแตก" ก็จะเป็นผีหลอนรัฐบาลนี้ต่อไป หนีอย่างไรก็ไม่พ้น