posttoday

เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ยังคงเป็นกระทะเหล็กเทฟล่อนที่ลื่นแม้เป็นรอย

18 สิงหาคม 2563

บทความ โดย...ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มเห็นการขยายตัวแบบช้าๆ ช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนจะปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ที่คาดไว้ -8.9% หรือไม่ จะขอรอดูตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนต้นไตรมาสสามและนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบกับ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วง เป็นปัจจัยที่ให้น้ำหนัก

สภาพัฒน์รายงาน GDP ไตรมาสสองหดตัวราว 12.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 9.7% เทียบไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาล (seasonal adjustment) ปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเป็นประวัติการณ์รองจากไตรมาสสองปี 2541 ที่ GDP หดตัว 12.5% มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลายประเทศรวมทั้งไทยปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้คนขาดรายได้ กระทบการบริโภค การผลิต และการส่งออก มีเพียงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อีกทั้งการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงไตรมาสสองยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขาดรายได้หนักขึ้น เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ แม้กำลังซื้อคนในประเทศจะอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนสูง รายได้ภาคเกษตรตกต่ำยาวนาน ธุรกิจขนาดกลางและเล็กอ่อนแอ

มองต่อไปข้างหน้า เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การส่งออกน่าจะดีขึ้น หรือติดลบจากปีก่อนน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรน่าจะขยายตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอาจฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ด้านการผลิตในภาคส่วนต่างๆ เริ่มมีกำลังการผลิตดีขึ้น การจ้างงานและการขยายชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวช้า แม้นักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจชดเชยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และอาจกระจุกตัวในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมากกว่าจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น

สำหรับปัจจัยการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจผ่านความเชื่อมั่นผู้ลงทุนและผู้บริโภค ในอดีต ช่วงที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การประท้วง การรัฐประหาร และการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลลบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆช่วยลดผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพ เสมือนสารเทฟล่อนที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด วารสารดิอิโคโนมิสต์จึงเคยเรียกเราว่า เทฟล่อนไทยแลนด์ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน

“เวลาผ่านไปเนิ่นนานถึงวันนี้ แม้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทะที่เรายังใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย แต่ผมมองว่าสารเทฟล่อนยังใช้การได้ ผมเชื่อในการปรับตัวของเอกชนไทย แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหรือการเมือง จะหาทางรอดได้เสมอ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยยังมีคนที่มีกำลังซื้ออยู่มาก ผมมองว่าสารที่จะช่วยชดเชยสารเทฟล่อนที่เสื่อมลงน่าจะเป็นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือมาตรการดึงเงินจากคนชั้นกลางขึ้นไปให้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ส่วนปัจจัยการเมืองหากมีความวุ่นวาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือ คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายและการเดินทางไปสถานที่แหล่งชุมชน และหากปัญหาบานปลายรุนแรงขึ้น อาจกระทบต่อภาคการผลิตที่อาจลดชั่วโมงการทำงานหรือเลิกจ้างพนักงาน ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินก็จะตามมา และลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่โตช้าลากยาว นอกจากนี้ คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังเคลือบแคลงและไม่ได้รับความชัดเจนในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะหลายกรณีที่ผู้มีฐานะในสังคมมักพ้นผิดทางกฏหมาย อาจกระทบต่อการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติแต่ถ้าเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างเทฟล่อนไทยแลนด์ เศรษฐกิจจะยังคงประคองตัวอยู่ได้ และอยากให้เราใจเย็นๆ ก่อนนะครับ เพราะการประท้วงหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้อาจไม่รุนแรงและอยู่ในขอบเขต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนจะเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวได้ และท้ายสุด มาตรการทางการเงินและการคลังก็จะออกมารองรับและประคองเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจไทยจีงไม่น่าจะหดตัวแรงดังเช่น Q2 แต่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด” ดร.อมรเทพ กล่าว