posttoday

กู้ชีพเอสเอ็มอี บสย.ควัก2หมื่นล้านช่วยค้ำประกัน

13 สิงหาคม 2563

บสย.จับมือแบงก์จริงใจปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอี ประเดิม ออมสิน ไทยพาณิชย์ และกรุงไทย

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย. เร่งทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจริง ๆ เพื่อช่วยให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ โดย บสย. ใช้เงินของตัวเองวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีที่มาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

โดยขณะนี้มีสถาบันการเงิน 3 แห่ง ที่ได้ทำข้อตกลงกับ บสย. แล้ว คือ ธนาคารออมสิน ขอวงเงินค้ำประกัน 5 พันล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอวงเงินค้ำประกัน 2 พันล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทย ขอวงเงินค้ำประกัน 1 พันล้านบาท ซึ่งการค้ำประกันของ บสย. ทุก 1 เท่า จะทำให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ได้ 1.5 เท่า

"วงเงินค้ำประกัน 2 หมื่นล้านบาท บสย. จะร่วมมือกับสถาบันการเงินที่จะดำเนินการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19จริง ๆ และต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้ยังประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้" นายรักษ์ กล่าว

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผ่านมาสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ติดกับดักสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) และ ค่าธรรมเนียมถูก ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีส่วนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง จนในที่สุดมีปัญหาการดำเนินงาน เป็นหนี้เสียกับสถาบันการเงิน ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น

"ตอนนี้ บสย. ไม่เป็นห่วงเรื่องหนี้เสีย แต่เป็นห่วงหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย ที่มีอีกจำนวนหลายแสนล้านบาท หากสถาบันการเงินไม่เร่งช่วยปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอี ผลสุดท้ายจะทำให้หนี้เสียของสถาบันการเงินมากขึ้น ถึงเวลาที่สถาบันการเงินต้องปล่อยกู้ช่วยผู้ประกอบการ ส่วนเอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัวเองให้มีประสิทธิภาพ เพราะหากไม่ปรับตัวเองให้ได้สินเชื่อไม่ว่าดอกเบี้ยจะแพงหรือถูก สุดท้ายก็ไปไม่รอดอยู่ดี" นายรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ บสย. ยังมีวงเงินค้ำประกันของโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีค่า (PGS8) เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรอนายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง คนใหม่เห็นชอบเรื่องการปรับเงื่อนไขการค้ำประกัน เหมือนกับวงเงินค้ำประกัน 2 หมื่นล้านบาท ที่ บสย. ดำเนินการอยู่ เพราะของเดิมเป็นการค้ำประกันหมู่ มีสถาบันการเงินจำนวนมากได้วงเงินค้ำประกันไปแล้ว แต่ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์

สำหรับ PGS9 จะต้องรองบประมาณปี 2564 ผ่านก่อน จึงเสนอให้ รมว.การคลัง เห็นชอบ ว่ากำหนดวงเงินดำเนินการเท่าไร เพราะการดำเนินการต้องใช้เงินงบประมาณชดเชยให้กับ บสย.