posttoday

เชื่อมือ“ปรีดี”คุมคลังได้ เร่งแก้ศก.พ้นวิกฤต

06 สิงหาคม 2563

นักวิชาการเชื่อ“ปรีดี”คุมคลังได้ ชี้มีประสบการณ์แนะเร่งฟื้นเศรษฐกิจด่วนก่อนทรุดมากกว่านี้

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ภาพรวมรายชื่อรัฐมนตรีใหม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งถือเป็นรายชื่อที่ยอมรับได้ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักของนักลงทุน ถือว่ามีประสบการณ์การทำงานค่อนข้างมาก

สำหรับกรณีที่นายปรีดี ไม่ได้นั่งควบเป็นรองนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีคนไหนก็สามารถนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้ แต่ขอให้ทำงานอย่างมีเอกภาพ เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระทรวง เพราะว่ามาตรการต่าง ๆ เกี่ยวข้องกันระหว่างกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการท่องเที่ยว มาตรการเกษตร หรือมาตรการด้านการค้าการลงทุน ดังนั้นคนที่จะมานั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจจึงต้องสามารถบูรณาการการทำงานตรงนี้ให้เป็นเอกภาพและประสานการทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะลงมาดูเองก็ได้

ทั้งนี้ โจทย์ที่สำคัญของรัฐมนตรีใหม่หลังจากนี้ คือ จะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกติดลบเยอะมาก ตัวเลขการส่งออกติดลบมากกว่า 10% สิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจะต้องเร่งดำเนินการ คือการใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการเติบโตที่ติดลบของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งงบประมาณมาจากการโยกงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เงินจากการ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 3.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุน 6 แสนล้านบาท

โดยมองว่า หากมีการใช้งบดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้อย่างล่าช้า จะทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2563 ติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ และการที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเท่ากับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จะต้องใช้เวลานานกว่าเดิม อาจจะถึง 5 ปี แต่หากเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและทำได้สำเร็จ อาจจะใช้เวลาเพียง 3-4 ปี

“ตอนนี้มีประเด็นปัญหามาก คือ งบจากการกู้เงินฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้นยังมีการเบิกจ่ายจริงได้น้อยมาก และเงินกู้ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังปล่อยกู้ได้น้อยมาก อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ถือว่ายังน้อยเกินไป” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับเศรษฐกิจอีกเรื่องคือ การคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง หลังจากนี้จะมีคนตกงาน และธุรกิจปิดกิจการมากขึ้น เพราะว่าการทำธุรกิจจะเข้าสู่วิถีใหม่ ผู้ประกอบการจะปรับตัวไม่ใช่แรงงานมากเหมือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งก่อนหน้านี้แรงงานได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี จนทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นการปรับตัวของภาคธุรกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงจะเป็นอีกประเด็นที่ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาล ต้องหามาตรการมารองรับว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร