posttoday

ธปท. แจง กองทุน BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย

31 พฤษภาคม 2563

ธปท. แจง กองทุน BSF มุ่งคุ้มครองผู้ออมและดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน หลังเดือน มี.ค. แห่ถอนหุ้นกู้เอกชน 3 แสนล้านบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขอชี้แจงเกี่ยวกับที่สมาชิกสภาได้อภิปรายเกี่บวกับ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเรียกสั่นๆ ว่า พ.ร.ก.กองทุนตราสารหนี้เอกชน (พ.ร.ก. กองทุน BSF) ทำให้คนคิดว่าเป็นกองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อไปช่วยผู้ออกตราสารหนี้

สำหรับวัตถุประสงค์ของการออก พ.ร.ก.นี้ ที่สำคัญที่สุดคือดการรักษาเสถียรภาพการเงิน เพราะหากเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องขึ้นในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในตลาดการเงินขนาดใหญ่คือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็จะลุกลามไปสร้างปัญหาระบบการเงินโดยรวมได้

ในโลกการเงินปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ปัญหาที่อยู่ในตลาดการเงินแห่งหนึ่งสามารถที่จะลามไประบบการเงินทั้งระบบได้ เรื่องสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญมาก ตัวอย่างที่เห็นดีคือ ธนาคารพาณิชย์ ถ้าเมื่อไรก็ตามธนาคารพาณิชย์จะให้ดีแค่ไหน ถ้าประชาชนไปถอนเงินพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องได้ จึงเป็นที่มาที่ต้องมีกลไกค้ำประกันเงินฝาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ธปท. แจง กองทุน BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย

นายวิรไท ชี้แจงว่า สาเหตุที่ ธปท. กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องมาคิดมาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพราะมี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์แรกย้อนกลับไปเดือนมี.ค. 2563 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ระดับสูงมากกว่าวันละ 180 คน มีการประมาณการณ์กันว่าถ้าเราควบคุมไม่ได้อาจจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศถึง 1 แสนคน สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกก็รุนแรงมากขึ้นมีการลามไปทวีปยุโรปและอเมริกา ทำให้ราคาตราสารหนี้และตลาดทุนทั่วโลกตกอย่างรุนแรง ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกก็ขาดสถาพคล่อง

กรณีของประเทศไทยเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค. คือมีการไถ่ถอนกองทุนรวมตราสารหนี้อย่างรวดเร็ว จนทำให้กองทุนรวามตราสารหนี้บางส่วนขาดสภาพคล่อง ซึ่งกองทุนตราสารหนี้รวมมีขนาดใหญ่ 1.8 ล้านล้านบาท โดยปกติทุกเดือนจะมีเงินใหม่ไหลเข้ามาลงทุน แต่ในช่วงเดือนมี.ค. เดือนเดียว มีเงินที่ถูกไถ่ถอนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ 3 แสนล้านบาท เพราะผู้ลงทุนไม่ทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบอย่างไรและมีผลรายได้กับเขาอย่างไร บริษัทที่เคยลงทุนก็ไถ่ถอนเงินออกและถือเงินสด

กองทุนรวมที่เคยลงทุนระยะยาวในตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มีความกังวล เช่น กองทุนประกันสังคม ก็ต้องมีการรักษาเงินสดเพราะมีภาระต้องไปเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเมื่อก่อน กองทุนประกันสังคมก็เป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนต่อเนื่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ทำให้ ธปท. ได้ออกเครื่องมือชุดหนึ่งเป็นกลไกพิเศษดูแลสภาพคล่องของกองทุนรวมตราสารหนี้ ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ให้ธนาคารพาณิชย์ไปซื้อหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ก็สามารถมาขอสถาพคล่องจาก ธปท. ได้ มาตรการนี้ทำให้ตลาดกองทุนรวมตราสารหนี้นิ่งขึ้นเป็นปกติมากขึ้น แต่ก็มีกองทุนรวมตราสารหนี้ถึง 4 กองทุน ที่ต้องปิดไปมีเงินที่ติดค้างในกองทุน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ภาคธุรกิจหวังว่าจะมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสภาพคล่องชั่วคราว ประชาชนที่ลงทุนไว้ก็ไม่ได้รับเงินคืนในเวลารวดเร็ว ต้องรอเข้าสู่กระบวนการชำบัญชีของกองทุน ซึ่งส่งผลกระทบกับสภาพคล่องของเศรษฐกิจในภาวะที่ทุกคนกังวลและต้องการถือเงินสด

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเรื่องของตลาดตราสารหนี้ เป็นเรื่องสำคัญ และหากไม่สามารถดูแลได้ จะลามไปสู้ตราสารการเงินอื่นๆ หรือระบบการเงินโดยรวมได้

ธปท. แจง กองทุน BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย

นายวิรไท ชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่ 2 ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวความกังวลเรื่องการลงทุนหุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้มากกว่า 80 แห่ง สร้างความกังวลให้กับสมาชิกออมทรัพย์ ที่เป็นประชาชน เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการถอนเงินจากสหกรณ์หลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าระบบการเงินมีความเชื่อโยงกันสูง และตลาดตราสารหนี้มีความสำคัญที่ต้องเข้าไปดูแลในเรื่องการรักษาสภาพคล่อง

สำหรับขนาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมาไม่มีการพูดเรื่องตราสารหนี้มากเท่าไร ในวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการพึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลักมากเกินไป เมื่อระบบธนาคารพาณิชย์มีปัญหาระบบเศรษฐกิจก็มีปัญหา

เมื่อดูในปี 2543 ตราสารหนี้ภาคเอกชนมียอดคงค้าง 5 แสนล้านบาท เป็น 12% ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเรามุ่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้เอกชนให้เป็นอีกทางเลือกเป็นอีกเสาหลักทางการเงิน ทำให้ในช่วง 10 ปีหลัง ตราสารหนี้เอกชนขยายตัวเร็วมากจาก 1.2 ล้านล้านบาท เป็น 3.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 30% ของยอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

นายวิรไท กล่าวว่า เวลาพูดถึงมาตรการของ ธปท. จะได้รับการวิจารณ์ว่า มีเจตนาไปช่วยเหลือเจ้าสัวหรือเปล่า ไปช่วยผู้ออกตราสารหนี้ขนาดใหญ่หรือเปล่า ซึ่งเขาร่ำรวยอยู่แล้วควรระดมทุนได้เอง ซึ่งเวลาที่ ธปท. มองเรื่องเสถียรภาพการเงิน จะให้ความสำคัญผู้ลงทุนหรือผู้ออมมากกว่าผู้ออกตราสาร เพราะถ้าประชาชน หรือ ผู้ออมขาดความมั่นใจก็จะส่งผลกระทบไปสู่ตลาดการเงินอื่นๆ ได้ หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ไฟจะลามทุ่ง ซึ่ง ธปท. ต้องการรักษาเสถียรภาพมูลค่าการออมของคนไทยไม่ได้ให้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดสภาพคล่องชั่วคราว

อย่างที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ชี้แจงกับสภาว่า ตราสารหนี้เอกชน 3.8 ล้านล้านบาท มีประชาชนลงทุนโดยตรง 28% มีประชนลงทุนทางอ้อมทั้งรู้ตัวไม่รู้ตัวอีก 55% สหกรณ์ออมทรัพย์อีก 9% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 9% ทำให้ประมาณ 83% ของตราสารหนี้ถือโดยประชาชน จึงเป็นที่มา พ.ร.ก. เพื่อดูแลเสถียนภาพของตราสารหนี้ภาคเอกชน

ธปท. แจง กองทุน BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย

นายวิรไท ชี้แจงว่า การออก พ.ร.ก. กองทุน BSF เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เป็นการทำล่วงหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน ดีกว่าที่จะปล่อยให้มีปัญหาและไปตามแก้ที่หลัง หากปล่อยให้ตลาดเงินมีปัญหา ตลาดการเงินมีปัญหา และไปตามแก้ไขที่หลัง ต้นทุนจะสูงกว่ามากกับทุกคน ต้นทุนของรัฐบาลสูงกว่ามาก ต้นทุนผู้ประกอบการสูงกว่ามาก ต้นทุนของประชาชนที่เป็นผู้ออมกว่าสูงกว่ามาก ดังนั้นการออกมาตรการไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดใหญ่ มาตรการก็ต้องมีขนาดใหญ่พอกับขนาดของตลาด เตรียมไว้พร้อมใช้ได้อย่างรวดเร็ว ต้องมีกลไกที่ดี และนี้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองที่กองทุนจะเข้าไปลงทุนไม่เกิน 270 วัน และมีธรรมาภิบาล โปร่งใสมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ใน พ.ร.ก. กองทุน BSF ไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้ แต่ในกฎหมายลูก เป็นประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว มีกรอบการลงทุน และการบริหารกองทุน การบริหารความเสี่ยง

"พ.ร.ก. กองทุน BSF ไม่ได้เป็นการกู้เงิน ไม่ได้เป็นการสร้างหนี้สาธารณะให้กับรัฐบาล เพราะกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ก็จะได้เงินคืน ไม่เป็นภาระภาษีในอนาคต หลัง มี พ.ร.ก. กองทุน BSF ทำให้ตลาดตราสารหนี้เอกชน มีความมั่นใจมากขึ้น และมาตรการนี้เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินการไม่ใช่แต่ ธปท. ของไทยทำเท่านั้น" นายวิรไท กล่าวชี้แจง