posttoday

บสย.ดันค้ำประกันสินเชื่ออีก2.5แสนล้านบาท

20 พฤษภาคม 2563

บสย.ดันค้ำประกันสินเชื่ออีก2.5แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเจอมรสุมโควิด-19

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 นำไปสู่การเปลี่ยนแผลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ บสย. ต้องปรับตัว ปรับกระบวนการทำงาน ภายใต้แนวคิดและรูปแบบการนบริหารจัดการองค์กรใหม่

ทั้งนี้ จากการปรับกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง ม.ค. - วันที่ 15 พ.ค. 2563 เติบโตขึ้นในทุกมิติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยอดอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อ อยู่ที่ 5.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 103%, การอนุมติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) อยู่ที่ 8.02 หมื่นฉบับ เพิ่มขึ้น 227% และจำนวนลูกค้าใหม่ อยู่ที่ 6.42 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 216% การเติบโตทั้งหมดเป็นผลจากการปรับทัศนคติ ปรับกระบวนการทำงาน และการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือจากพนักงานทุกคน

โดยปัจจุบัน บสย. ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสะสมให้ผู้ประกอบการแล้ว 9.05 แสนล้านบาท มีภาระค้ำประกันสะสม 4.21 แสนล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน จำนวน 4.78 แสนราย

นายรักษ์ กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ซึ่งเป็นการดูแลคนปกติ คาดว่าสิ้นเดือนนี้น่าจะค้ำประกันเต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดย บสย. เตรียมออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงิน 2 แสนล้านบาท รอการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ซึ่งจะรอให้การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ดำเนินการไปสักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งซอฟท์โลนของ ธปท. เป็นการช่วยผู้ประกอบการที่ไมเป็นเอ็นพีแอล สำหรับ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงิน 2 แสนล้านบาท จะดูแลกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 4 วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกันฝ่าวิกฤต COVID-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

"ในระยะต่อไป บสย. จะมีโครงการค้ำประกันสินเชื่ออกมาเพิ่มอีกรวมวงเงินอย่างน้อย 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้อีกจำนวนมาก" นายรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ บสย. ยังมีมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท 4 เดือน ค้ำประกันแล้ว 4 หมื่นล้าน เหลือไม่ถึง 2 หมื่นล้าน แต่มียอดจองเกือบครบวงเงินแล้ว ภายใน มิ.ย. ซึ่งจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เยียวยาได้มากขึ้น เดิมต้องมีประวัติเห็นหนี้เสีย และเข้าดำเนินคดีถึงจะเข้ามาตรการได้ ซึ่งจะปรับให้ง่ายขึ้น