posttoday

แบงก์พาณิชย์โกยกำไร2.7แสนล้าน

17 กุมภาพันธ์ 2563

ธปท.แจงแบงก์พาณิชย์ไทยแกร่งกำไรโต 30.8% จากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน คาดปีนี้ปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 2% ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2562 มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้น มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,845 พันล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.6% เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงที่ 701.2 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.4 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.8% ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงเล็กน้อยจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและรายได้ค่านายหน้าขายหลักทรัพย์ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.39% จาก 1.11% ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ 2.73%

สำหรับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เชื่อว่าธนาคารจะสามารถรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว อาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องบางส่วน ที่มีสัดส่วนสินเชื่อ 10% ของสินเชื่อธุรกิจ และ 6% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อรายย่อยเพียง 1 ใน 3 ซึ่งธนาคารได้เข้าไปดูแลคุณภาพนี้ ผ่านการเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงที่มีปัญหาระยะสั้น

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2% โดยสินเชื่อธุรกิจ มีสัดส่วน 64.1% ของสินเชื่อรวมหดตัว -0.8% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการชำระคืนหนี้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ หดตัว -1.9% และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี หดตัว -2.1% ส่วนสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค มีสัดส่วน 35.9% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 7.5% แต่ชะลอลงจากปีก่อนในประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ในระดับสูง ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2563 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์จะยังคงขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจ และแนวโน้มการขายสินเชื่อของภาคธุรกิจ ที่ลดสัดส่วนการกู้จากตลาดทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำลง

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 2.98% โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อด้วยการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.79% จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนปี 2563 คาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลจะมีโอกาสขยายตัวถึง 3% ในช่วงกลางปีแต่ธนาคารพาณิชย์จะมีการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับต่ำลงในช่วงปลายปี