posttoday

นักลงทุนยังผวาหนัก พิษงบประมาณ 2563 ล่มเศรษฐกิจทรุด

17 กุมภาพันธ์ 2563

แม้ว่างบประมาณ 2563 จะได้ผ่านการโหวตซ่อมวาระ 2 และ 3 ไปแล้ว แต่นักลงทุนไทยก็ยังไม่หายจากโรคผวางบประมาณล่มทำเศรษฐกิจทรุด

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

...............................

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ได้รับการโหวตซ่อมวาระ 2 และ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสภาวุฒิสมาชิก (ส.ว.) เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ จากปัญการเสียบบัตรแทนกัน

หลังจากนี้ หากไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายคาดว่า งบประมาณ 2563 จะเริ่มใช้เดือน มี.ค. นี้ ซึ่งล่าช้ากว่าเดิมถึงครึ่งปี จากเดิมที่งบประมาณ 2563 จะต้องเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562

อย่างไรก็ตามการจากโหวตซ่อมงบประมาณ 2563 ในสภา ก็ยังมีประเด็นที่ทำให้นักลงทุนไม่สบายใจว่า งบประมาณจะออกมาใช่ได้หรือไม่ เมื่อมี ส.ส. บางท่านให้ความเห็น การพิจารณางบประมาณ 2563 เกิน 105 วัน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีใครส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็อาจเป็นเรื่องเป็นประเด็นขึ้นมาได้เหมือนกรณีการเสียบบัตรแทนกันก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นระหว่างการโหวตซ่อมงบปรนะมาณ 2563 รายมาตรา มีบางมาตรการที่เสียงโหวตไม่ครบองค์ประชุม จนเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า การพิจารณางบประมาณอาจเป็นโมฆะ จนต้องมาเรี่มโหวตกันใหม่

ทั้งหลายทั้งปวง ตอนนี้ก็ต้องวัดใจ ส.ส. จะมีใครหาญกล้าเอางบประมาณที่ต้องใช้ขับเคลื่อนประเทศ ไปเป็นตัวประกันทางการเมือง โดยยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นข้อกฎหมาย ทำให้งบประมาณ 2563 ล่าช้าออกไปไม่มีกำหนดอีกหรือไม่

แม้ว่า มีการพิเคราะห์กันว่า ไม่ใช่แต่ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ต้องการให้งบประมาณ 2563 ผ่าน เพื่อเร่งใช้เบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ที่มีหลายแสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะทรุดตัวอย่างหนัก โดยมีการเริ่มคาดกันว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะโตได้ไม่ถึง 2% จากปัญหางบประมาณล่าช้า การระบาดของไวรัสโคโรนา และปัญหาภัยแล้งรุนแรง

ในส่วนของฝ่ายค้านแล้วจริงๆ ก็อยากให้งบประมาณ 2563 ผ่านเหมือนกัน เพราะมีโครงการจำนวนมากที่ไปสัญญากับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ยังทำไม่ได้เพราะต้องรอเม็ดเงินจากงบประมาณ 2563

สำหรับนักลงทุน ตราบใดที่งบประมาณ 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะปี 2563 เป็นปีแห่งการคาดเดาไม่ได้ ปัญหางบประมาณล่าช้ามาหลายเดือนก็สุดทนแล้ว

ยังไม่เจอปัญหาไม่น่าเป็นปัญหาเสียบบัตรแทนกัน ทำให้งบประมาณเดี้ยงล้าช้าไปอีก จนนักลงทุนไม่น้อยถอดใจเอาเงินเก็บเข้ากระเป๋า ชะลอการลงทุนไปก่อน

ดังนั้น นักลงทุนจึงผวาไม่หายจากปัญหางบประมาณล่ม ซึ่งตอนนี้ถึงแม้จะกู้ขึ้นมาได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีอุบัติเหตุทำให้ล่มล่าช้าไปอีกหรือเปล่า เพราะถึงไม่ล่มอีกก็เบิกจ่ายงบประมาณก็เหลือเวลาไม่กี่เดือน ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย นักลงทุนก็ไม่เชื่อมั่นเป็นทุนเดิมไม่ยอมลงทุนเพิ่มอยู่แล้ว

ภาวะเช่นนี้ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวิกฤตของความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการฉุดเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลงเหว และเป็นสิ่งที่ดูเหมือนรัฐบาลจะแก้ไม่ตก