posttoday

'สมคิด' ใช้จังหวะเศรษฐกิจโลกวิกฤตปรับโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนประเทศ

21 กันยายน 2562

เดินหน้าโยบาย 'ประชารัฐสร้างไทย ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก' สร้างภูมิคุ้มกันชุมชน พัฒนาตลาดออนไลน์ยุคใหม่ แบงก์รัฐพร้อมหนุนสินเชื่อยกระดับชุมชน กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมนำพืชเศรษฐกิจ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย แปลงเป็นพลังงาน หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน

เดินหน้าโยบาย 'ประชารัฐสร้างไทย ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก' สร้างภูมิคุ้มกันชุมชน พัฒนาตลาดออนไลน์ยุคใหม่ แบงก์รัฐพร้อมหนุนสินเชื่อยกระดับชุมชน กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมนำพืชเศรษฐกิจ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย แปลงเป็นพลังงาน หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมนโยบาย "ประชารัฐสร้างไทย" ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคลัง อุตสาหกรรม พลังงาน ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หวังใช้โอกาส ในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

ด้วยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวขุมชนเข้มแข็ง นำแบงก์รัฐมาช่วยเหลือทั้งความรู้และการเติมทุน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน

นายสมคิด ย้ำว่า วันนี้ทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน เมื่อเสียบปลั๊กร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ประเทศมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชีวิตขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ หากยิ่งด้อยในวิทยากาศ ต้องรอธรรมชาติอย่างเดียว หากมีปัญหาแห้งแล้ง ตลาดโลกมีปัญหา เทคโนโลยีด้อยพัฒนา ต้องขายที่ดิน กู้เงินนอกระบบ วนเวียนซ้ำเดิม จีดีพีเติบโตลงไปไม่ถึงฐานราก ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ จึงต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มุ่งลดการสร้างความแตกแยก คนรวย รวยมากขึ้น คนจน จนซ้ำซาก เป็นวลีทางการเมืองที่กล่าวอ้างบ่อยครั้ง หากนำเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาเป็นเรื่องใหญ่

"จีนมุ่งแก้ปัญหาความยากจนให้คืบหน้าอย่างรวดเร็ว ไทยต้องไม่นอนอยู่ในห้อง ICU ต้องลุกขึ้นมาด้วยการปฏิรูปตนเอง ขณะที่สิงคโปร์ดีไซค์ความคิดอย่างเป็นระบบ มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไทยกว้างใหญ่กว่าสิงคโปร์ ควรร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประชารัฐสร้างไทย จึงต้องร่วมกันยกระดับภาคเกษตร หากเศรษฐกิจดี สังคมจะดีตามไปด้วย เมื่อชุมชนแข็งแรงทุกอย่างจะดีขึ้น นำสมาทฟาร์มเมอร์ เป็นผู้นำในชุมชนภายใน 3 ปี ต้องพัฒนาให้ได้ 3 แสนรายทั่้วประเทศ สร้างตลาดออนไลน์ ดึงมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือ จะกลายเป็นหมู่บ้านทันสมัย กลายเป็นสมาทเนชั่น เมื่อต่างประเทศเข้ามาลงทุนจะเชื่อมโยงได้ถูกทาง" นายสมคิด กล่าว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวมอบนโยบายในที่ประชุมว่า กระทรวงคลัง พร้อมดึงพันธมิตรเครือข่ายทุกหน่วยงานมาร่วมลงทุน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน มุ่งพัฒนาไปสู่ตลาดออนไลน์ยุคใหม่ การสร้างศูนย์กระจายสินค้าในชุมชน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)วิเคราะห์ ดูแลสวัสดิการ ตาข่ายสังคมประชารัฐตามปัจจัยพื้นฐาน ต้องผลักดันสวัสดิการฯ เพิ่มเติม กรมธนารักษ์ กางแผนที่นำที่ราชพัสดุเหมาะสม เปิดตลาดประชารัฐ ให้พ่อค้าแม่ค้านำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย นำแบงก์รัฐมาช่วยเติมทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย

"กระทรวงการคลังกำลังพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า เพื่อบูรณาการข้อมูลนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกตัวอย่าง ข้อมูลผู้ลงทะเบียนคนจนกว่า 14 ล้านคน จะทำให้เรารูัข้อมูลด้านการใข้จ่ายทั้งจุดใช้จ่าย สินค้าที่ซื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวิสาหกิจชุมชน การสร้างตลาดการค้าชุมชนและการสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้ข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพอย่างเหมาะสมและยั่งยืน" นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเวิลด์แบงก์ ที่สำรวจฐานรากพบว่า 40%ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า ความเป็นอยู่โดยรวมไม่ดีขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมี นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ฉะนั้น เราต้องเลือกโมเดลการพัฒนาที่เป็นโมเดลใหม่ๆ คือ เน้นลงทุนไปที่ชุมชน เพื่อสร้างให้คนระดับฐานรากอยู่ดีกินดี ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการเติบโตของจีดีพีประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในที่ประชุมว่า กระทรวงพลังงาน จะใช้พลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จากความต้องการพลังงานของชุมชนจะนวนมาก ทั้งแก๊สหุงต้ม ไฟฟ้า น้ำมันในการเดินทาง จึงต้องพลิกฟื้นให้เข้ามีโอกาสเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าชุมชน โดยใช้วัตถุดิบในชุมชนมาใช้ผลิต เพื่อแปลงวัตถุดิบมาใช้เป็นส่ิงมีคุณค่า เพื่อใช้เป็นพลังงานชุมชนสำหรับการขนส่ง อย่างเช่น นำปาล์มน้ำมันคุณภาพ กระทรวงพลังงานเตรียมปรับขยับน้ำมันบี 7 เพิ่มเป็นบี 10 เริ่ม 1 ต.ค.นี้

จากนั้นแพร่กระจายทั้งประเทศในเดือนมกราคมปี 63 ดูดซับปาล์มจากระบบได้ 4 แสนตัน ทำให้มันสำปะหลัง อ้อย ถูกนำมาพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนผสมเป็นแก๊สโซฮอลล์ เตรียมใช้ปั๊ม ปตท.เป็นตลาด เชื่อมโยงสินค้า หลังได้ทดลองนำร่องตลาดไทยเด็ดไปแล้วหลายแห่ง และขยายไปยังปั๊มบางจาก เป็นช่องทางสร้างตลาดชุมชน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. รายงานที่ประชุม ว่า ธ.ก.ส. พร้อมนำนโยบายชุมชนอุดมสุข มาพัฒนาชุมชน กำหนดเป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างรายได้สุทธิให้คนในชุมชนระดับฐานรากเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% รวมถึงต้องมีอัตราการออมเงินไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้รวม พร้อมทั้งมีการจัดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลักทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 20% ของปริมาณผลผลิตรวม และมีองค์กรการเงินชุมชนที่ได้มาตรฐานภายในชุมชน

ขณะที่มาตรการสินเชื่อนั้น จะเน้นให้กับผู้ประกอบการเกษตร ประกอบด้วย สินเชื่อสมาร์ฟาร์มเมอร์สร้างไทย อัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้ได้ 10,000 ล้านบาทในปี 62 ใหักับผู้ประกอบการ 1 แสนราย ส่วนในปี 63 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการจำนวน 200,000 ราย และในปี 64 มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ 300,000 ราย

สำหรับ สินเชื่อ SMAEs สร้างไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร อัตราดอกเบี้ย 4% มีเป้าหมายในปี 2562 จะปล่อยสินเชิ่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 10,000 ราย ส่วนปี 63 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จำนวน 20,000 ราย และปี 64 ปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท จำนวน 30,000 ราย

สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% โดยมีเป้าหมายปีนี้ปล่อยสินเชื่อได้ 10,000 ล้านบาท จากจำนวนวิสาหกิจ 10,000 กลุ่ม ขณะที่ปี 63 จะปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้กับ 20,000 กลุ่มวิสาหกิจ และในปี 64 จะปล่อยสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท กับวิสาหกิจ 40,000 กลุ่ม

และสินเชื่อสหกรณ์การเกษตรสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% มีเป้าหมายปีนี้ ปล่อยสินเชิ่อ 10,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 แห่ง ส่วนปี 63 จะปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้จำนวน 1,200 แห่ง และปี 64 จะปล่อยสินเชิ่อ 30,000 ล้านบาท จำนวน 1,500 แห่ง นอกจากนี้ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนเกษตรกรปลูกป่าต้นน้ำ 11 จังหวัดภาคเหนือ วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย พื้นที่ 500,000 ไร่ ด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-3 ปีอีก คิด MRR-3 เพื่อนำเงินไปปลูกป่าในพื้นที่ที่กำหนด โดยมีระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้เตรียมสินเชื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มเป้าหมาย 2 ล้านราย โดยเตรียมวงเงินไว้ 1.5 แสนล้านบาท เฉลี่ยปล่อยสินเชื่อรายละ 75,000 บาท เช่น สินเชื่อหาบเร่แผงรอบ 4.0 เงื่อนไขผ่อนปรน เป้าหมาย 1 แสนราย ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท สินเชื่อสถาบันการเงินประชาชนปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สินเชื่อ street food ปล่อยกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมทั้งยังมีสินเชื่อแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างอาชีพเสริม สินเชื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย