posttoday

ธปท.ยันไม่ผ่อนLTVชี้ลดเสี่ยงทำให้คนมีบ้านได้ราคาถูกลง

09 สิงหาคม 2562

ธปท.เข้มคุณภาพปล่อยสินเชื่อบ้านและรถยนต์ ยันไม่ผ่อนเงื่อนไข LTV แม้ว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะลดลงแต่กำไรเพิ่มขึ้น

ธปท.เข้มคุณภาพปล่อยสินเชื่อบ้านและรถยนต์ ยันไม่ผ่อนเงื่อนไข LTV แม้ว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะลดลงแต่กำไรเพิ่มขึ้น

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ยังไม่ผ่อนปรนเงื่อนไขมาตรการ LTV คุมการปล่อยสินเชื่อบ้านสัญญาที่ 2 เป็นต้นไปของสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นมาตรการระยะยาว ส่งผลดีหลายด้าน ไม่กระทบกับการยอดปล่อยการสินเชื่อบ้านหลังแรกของสถาบันการเงินที่ยังขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาห้องชุด หรือ คอนโดมิเนียม มีราคาลดลงจากการลดการเก็งกำไร เป็นโอกาสดีทำให้ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ ได้ซื้อห้องชุดในราคาที่ถูกลง

"มาตรการ LTV เป็นผลดีกับคนซื้อบ้านและสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความยั่งยืนไม่มีความเสี่ยง ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการให้ ธปท. ปรับเกณฑ์เงื่อนไข LTV ทาง ธปท. ก็รับพิจารณา เพราะบางข้อเสนอเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล" นายธาริฑธิ์ กล่าว

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของยอดสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลงไม่ได้เป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อของ ธปท. เพราะ ธปท. ไม่เคยออกมาตรการคุมสินเชื่อรถยนต์ แต่เป็นการเข้าไปกำกับดูแลให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ทั้งในส่วนของการพิจารณารายได้และความสามารถการผ่อนชำระของผู้กู้ และจำนวนเงินที่ปล่อยให้กู้รถยนต์เหมาะสมไม่ทำให้เกิดมีการปล่อยสินเชื่อเกินจริงทำให้มีเงินทอนเกิดขึ้น

"การเข้าไปควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินโดยรวมไม่มีปัญหา มีสถาบันการเงินบางแห่งเท่านั้นที่ ธปท. เข้าไปกำชับให้การปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง โดยการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนการปล่อยสินเชื่อบ้าน เพราะรถยนต์ไม่มีการเก็งกำไร แต่บ้านมีการเก็งกำไร ทำให้ ธปท. ต้องคงมาตรการ LTV ไว้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผ่อนปรน" นายธาริฑธิ์ กล่าว

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2562 ปล่อยสินเชื่อขยายตัว 4.2% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 5.2% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 1.7% จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัว 2.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 4.4% และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่หดตัว -0.1% จากไตรมาสก่อนที่ 1.5% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 9.2% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 10.1%

“จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลงตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการขยายตัวสินเชื่อปีนี้ จะต่ำกว่าปีก่อน หรือขยายตัวไม่ถึง 6%”นายธาริฑธิ์ กล่าว

สำหรับคุณภาพสินเชื่อมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทรงตัวที่ 2.95% หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 3.3 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 ธนาคารพาณิชย์มีกำไร 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่มีเงินกองทุน 2,637 พันล้านบาท อัตราส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) เพิ่มขึ้นที่ 18.5% และมีเงินสำรองอยู่ที่ 680.6 พันล้านบาท