posttoday

ครม.ประเดิมทุ่มเงิน7,600ล้านบาท ช่วยเกษตรกรโดนภัยแล้ว

30 กรกฎาคม 2562

ธ.ก.ส.ประเดิมชง 4 มาตรการให้ ครม. เห็นชอบข่วยเหลือเกษตรกรที่เจอพิษภัยแล้ง

ธ.ก.ส.ประเดิมชง 4 มาตรการให้ ครม. เห็นชอบข่วยเหลือเกษตรกรที่เจอพิษภัยแล้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4 มาตรการ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม. ครั้งแรกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยสอง โดยจะขอวงเงิน 7,600 ล้านบาท สำหรับช่วยลดดอกเบี้ยช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะเริ่มมีผลใช้วันที่ 1 ส.ค.นี้

“มาตรการให้ ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อ คาดมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือกว่า 1.7 ล้านราย”

สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งทั้ง 4 มาตรการ ประกอบด้วย โครงการขยายเวลาชําระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 2 ปี จากงวดชําระเดิม โดยไม่จํากัดวงเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2562 – 31 ก.ค.2564 โดยจะให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ประสบภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายกลาง หรือรายใหญ่ แต่จะพักชำระเฉพาะเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยยังคงผ่อนชำระเหมือนเดิม ส่วนต่อมาเป็นโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก อัตรา 3% ต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 – 31 ก.ค.2563 โดยจะของบจากรัฐบาล 7,600 ล้านบาทนำไปชดเชยดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี

ด้านมาตรการที่ 3 โครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้แก่เกษตรกร วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือค่าลงทุนในการผลิตทดแทนส่วนที่เสียหาย ป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยปีแรกในอัตรา 0% ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ปัจจุบัน เท่ากับ 7% ต่อปี

นอกจากนี้ยังเตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต ไว้อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตที่สามารถลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง เช่น การลงทุนในระบบน้ำ การผลิตการเกษตรในรูปแบบที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น รายละไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์ลบ 2 กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี