posttoday

'บริโภค'ม้ามืดมาแรง ช่วยพยุงจีดีพีถึงปีหน้า

01 ธันวาคม 2561

ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค. 2561 พบ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงถึง 6.5%เป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบหลายปี

โดย....ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

การเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค. 2561 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบสิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงถึง 6.5% เทียบกับ 2.5% เมื่อเดือน ก.ย. เป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบหลายปี หลังจากกำลังซื้อของผู้บริโภคถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและรายได้ภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงดังกล่าว มาจากหมวดสินค้าคงทนเติบโตแรง 10.8% โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เติบโตสูงมากในรอบหลายปี หมวดบริการก็ดีขึ้น 4.7% ในธุรกิจขนส่ง โรงแรม ภัตตาคาร สะท้อนว่าแม้ว่าการท่องเที่ยวจะไม่ดี แต่นักท่องเที่ยวในประเทศก็ยังมีกำลังซื้อ  ขณะที่สินค้าไม่คงทน เช่น ของใช้ประจำวัน เติบโตเล็กน้อย 2.1%

อีกปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคโดยรวมดีขึ้นต่อเนื่อง มาจากรายได้ภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวในเดือน ต.ค. 3.9% โดยมาจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 4.2% แต่ในด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัว 0.4% จึงยังต้องติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรใกล้ชิด สินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำอยู่ อาทิ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน มาจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

เมื่อปรียบเทียบในแต่ละไตรมาสของปี 2561 จะเห็นภาพว่า การบริโภคภาคเอกชนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกเติบโต 3.6% ไตรมาส 2 เติบโต 4.3% และไตรมาส 3 เติบโต 5.8%

แล้วทิศทางการเติบโตจะมีเสถียรภาพเช่นนี้ไปเรื่อยๆ หรือไม่?

ดอน กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงมาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งพิจารณาจากทิศทางตลาด รวมทั้งการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่เมืองทองธานี ที่มีผู้สนใจร่วมงานจนทำให้รถติดบนทางด่วนซึ่งไม่เห็นมา 4-5 ปีแล้ว เชื่อว่ายอดจำหน่ายรถยนต์จะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งมีผลต่อตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าจะไม่ขยายตัวสูงเท่าปีนี้ ซึ่งมีปัจจัยพิเศษเข้ามา ขณะที่ภาคเกษตรยังไม่ดีเท่าที่ควร จากทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำอยู่ ขณะที่ความคาดหวังเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง เมื่อดูจากสถิติของสภาพัฒน์ย้อนหลังในช่วงการเลือกตั้งก็ไม่เห็นการบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นอย่างผิดปกติแต่อย่างใด

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.ปรับดีขึ้นจากเดือน ก.ย.อย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ตัวเลขการส่งออกที่เติบโตได้กว่า 8% จากติดลบ 5% เมื่อเดือนก่อน ซึ่งคาดว่ามาจากการที่จีนเร่งนำเข้าสินค้ามากขึ้น หลังจากสหรัฐประกาศมาตรการภาษีรอบที่ 3 อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ชัดเจนขึ้น โดยเก็บภาษี 10% ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ ก่อนปรับขึ้นเป็น 25% ในเดือน ม.ค. 2562 ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้นตามไปด้วย

“แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ต.ค. หดตัว 0.5% ฉุดการท่องเที่ยวไตรมาส 3 หดตัว 3.5% แม้ 10 เดือนแรกจำนวนนักท่องเที่ยวยังโตอยู่ 7.8% หรือ 31.2 ล้านคน แต่แนวโน้มเดือน พ.ย.ยังติดลบอยู่ จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อใด” ดอน กล่าว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.23% ชะลอจาก 1.33% ในเดือนก่อน การว่างงานทรงตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ค่าเงินบาท 1-2 เดือนอ่อนค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มปรับฐานจากก่อนหน้านี้เงินบาทแข็งค่า