posttoday

ตลาดแอนิเมชั่นโตรับทีวีดิจิทัล

05 มิถุนายน 2556

ทีวีดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยี และฐานผู้ชมกว้างขึ้น ดันตลาดแอนิเมชั่นเติบโต จับตาผู้ประกอบการไทยสู้คู่แข่งในอาเซียน

ทีวีดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยี และฐานผู้ชมกว้างขึ้น ดันตลาดแอนิเมชั่นเติบโต จับตาผู้ประกอบการไทยสู้คู่แข่งในอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพการรับชมโทรทัศน์เป็นรูปแบบทีวีดิจิทัล จะส่งผลต่อการผลิตแอนิเมชั่น โดยแอนิเมชั่นเป็นหนึ่งในประเภทธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายช่องทางและหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากแอนิเมชั่นส่วนใหญ่มีเนื้อหาสนุกสนาน และสามารถเพิ่มลูกเล่นต่างๆเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการรับชมเนื้อหาทางตรงผ่านช่องทางโรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ท สื่อบันทึกรูปแบบวีซีดีและดีวีดี รวมถึงการรับชมทางอ้อม ในรูปแบบเทคนิคพิเศษทางภาพ (Visual Effect) ในระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยประกอบธุรกิจทั้งในรูปแบบการผลิตแอนิเมชั่นเอง การรับจ้างผลิตแอนิเมชั่น และการร่วมทุนผลิตแอนิเมชั่นกับผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งมีตลาดผู้ชมแอนิเมชั่นครอบคลุมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ทีวีดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยี และฐานผู้ชมกว้างขึ้น ดันตลาดแอนิเมชั่นภายในประเทศเติบโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในอนาคต ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และทัศนคติของผู้คนในสังคม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

- การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล: การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลที่มีจำนวนช่องสัญญาณมากขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตรายการโทรทัศน์และโฆษณามากขึ้น นำมาซึ่งความต้องการบริการด้านการผลิต Visual Effect ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรายการโทรทัศน์และโฆษณาเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคธุรกิจนิยมใช้ Visual Effect เป็นส่วนประกอบในการสื่อสารทั้งในส่วนของรายการโทรทัศน์และโฆษณาไปถึงผู้ชมอยู่แล้ว เนื่องจากสามารถเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพลิดเพลิน สามารถดึงดูดผู้คนให้รับชมและจดจำได้เป็นอย่างดี รวมถึงจากการจัดสรรช่องรายการในระบบทีวีดิจิทัล ที่ได้กำหนดให้มีช่องรายการสำหรับเด็ก 3 ช่อง ก็ได้รับความสนใจในการเข้าร่วมประมูลโดยผู้ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นและผู้บริหารลิขสิทธิ์การ์ตูนแอนิเมชั่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ธุรกิจแอนิเมชั่นในปี 2556 มีความคึกคักด้วยเช่นกัน

- การพัฒนาเทคโนโลยีการรับชมแอนิเมชั่น: ยกตัวอย่างเช่น โรงภาพยนตร์ระบบสามมิติและสี่มิติที่สร้างความเสมือนจริงในการชมภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ดิจิทัลที่มีภาพและเสียงคมชัดมากกว่าการฉายระบบฟิล์ม สมาร์ททีวีที่ผู้ชมสามารถชมรายการโทรทัศน์และเล่นอินเทอร์เน็ตไปพร้อมๆกันได้ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ท ล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดแอนิเมชั่นมีความคึกคัก เนื่องจากเป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจ เพลิดเพลิน สามารถดึงดูดผู้ชมแอนิเมชั่นให้มีความสนใจมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบเดิมๆ นำมาซึ่งการแข่งขันของผู้ผลิตแอนิเมชั่น ทั้งในด้านเนื้อหาที่มีคุณภาพ และรูปแบบการนำเสนอที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี

- ฐานผู้ชมแอนิเมชั่นกว้างขึ้น: ในอดีต การ์ตูนแอนิเมชั่นมีเนื้อหาเหมาะสำหรับวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น รวมถึงยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ในปัจจุบัน ทัศนคติของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยได้มองว่าการ์ตูนแอนิเมชั่นช่วยผ่อนคลายความเครียดและเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับผู้ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นได้สร้างสรรค์เนื้อหาความบันเทิงอย่างหลากหลาย มีความร่วมสมัย ที่ผู้ชมสามารถเลือกชมได้ตามความชอบ จึงส่งผลให้การ์ตูนแอนิเมชั่นสามารถเข้าถึงผู้คนในวัยอื่นๆ เช่น วัยทำงาน ได้มากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยายฐานผู้ชมแอนิเมชั่นที่นอกเหนือจากวัยเด็กและวัยรุ่น

จากปัจจัยสนับสนุนทั้งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีการรับชมแอนิเมชั่น และฐานผู้ชมแอนิเมชั่นกว้างขึ้น ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ธุรกิจแอนิเมชั่นจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5,623 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 8,782 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งเป็นการนำเข้าแอนิเมชั่นจากต่างประเทศร้อยละ 66 และการผลิตแอนิเมชั่นโดยผู้ประกอบการไทย ร้อยละ 34 โดยการ์ตูนแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์ รายได้ลิขสิทธิ์การ์ตูน และภาพยนตร์แอนิเมชั่นบนวีซีดี/ดีวีดี ยังคงมีมูลค่าตลาดสูง โดยแอนิเมชั่นทั้งสามประเภทมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาดแอนิเมชั่นโดยรวม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2556-2558 นี้ มูลค่าตลาดแอนิเมชั่นจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี โดยการ์ตูนแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์ รายได้ลิขสิทธิ์การ์ตูน และภาพยนตร์แอนิเมชั่น มีแนวโน้มเติบโตในระดับคงที่ ในขณะที่ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นบนวีซีดี/ดีวีดีแนวโน้มเติบโตที่ชะลอตัวลง รวมถึง Visual Effect สำหรับหนังโฆษณา ภาพยนตร์ การนำเสนอ และแอนิเมชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล และความนิยมในการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ท ที่มีประสิทธิภาพในการรับชมแอนิเมชั่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ Visual Effect และแอนิเมชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เติบโต

ตลาดแอนิเมชั่นโตรับทีวีดิจิทัล

จับตาผู้ประกอบการไทยส่งออกแอนิเมชั่น สู้คู่แข่งในอาเซียน

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยประสบความสำเร็จในการผลิตและเผยแพร่แอนิเมชั่นในตลาดต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และคาแรกเตอร์การ์ตูน รวมถึงยังมีผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รับจ้างช่วงต่อจากผู้ประกอบการต่างชาติในการผลิตแอนิเมชั่นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งออกแอนิเมชั่น ที่นำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียงสำหรับประเทศไทย

จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมีการเปิดเสรีสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน ระหว่างสมาชิกอาเซียน ถือได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยในหลากหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การขยายตลาดไปสู่อาเซียน การจัดหาแรงงานแอนิเมชั่นในอาเซียน การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการแอนิเมชั่นในอาเซียนที่มีจุดแข็งในแต่ละขั้นตอนการผลิตแอนิเมชั่นเพื่อรับจ้างช่วงต่อ (Outsource) ผู้ประกอบการต่างชาติ เป็นต้น ประกอบกับแนวโน้มการจ้างช่วงต่อของผู้ประกอบการต่างชาติในการผลิตแอนิเมชั่น โดยมุ่งแสวงหาแหล่งรับจ้างช่วงต่อที่มีคุณภาพในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก ถือได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทย อย่างไรก็ตาม การเปิด AEC ก็ได้นำมาซึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศในอาเซียนเองที่ล้วนมีจุดแข็งด้านการผลิตแอนิเมชั่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้

- ประเทศฟิลิปปินส์: ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ระบุว่า ปี 2553 ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศฟิลิปปินส์มีมูลค่าประมาณ 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการแอนิเมชั่นฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการต่างชาติ และสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนด้านการผลิตแอนิเมชั่น ทั้งนี้ ประเทศฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบด้านความสามารถการผลิตแอนิเมชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์แอนิเมชั่น หรือแอนิเมชั่นที่มีเนื้อหายาวๆ อีกทั้งยังมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ในขณะที่ค่าแรงยังไม่สูงมากนัก โดยได้รับความนิยมจากบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นไปลงทุนผลิตผลงานแอนิเมชั่นภายในประเทศ

- ประเทศมาเลเซีย: ข้อมูลจาก Multimedia Development Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเลเซีย ได้ระบุว่า ในปี 2553 ธุรกิจ Creative Content ซึ่งครอบคลุมถึง ธุรกิจแอนิเมชั่น, เกม, Interactive Content, Mobile Content และ Visual Effect ในกระบวนการก่อนการผลิตและหลังการผลิตผลงานต่างๆของประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าตลาดประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้มีการตั้งเป้าหมายปี 2555 ในการเพิ่มมูลค่าตลาดของธุรกิจ Creative Content ถึง 326 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซียมีจุดแข็งในด้านการสนับสนุนธุรกิจแอนิเมชั่นจากภาครัฐอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยมีการสร้าง Multimedia Super Corridor ที่มีเขตอุตสาหกรรมทางด้านมัลติมีเดีย หรือเมือง Cyberjaya ที่มีบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่น และ Visual Effect ระดับโลกเข้าไปเปิดสาขา

- ประเทศสิงคโปร์: ข้อมูลของ Singapore Economic Development Board ได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ธุรกิจเกมและแอนิเมชั่นในประเทศสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 22 ต่อปี โดยในปี 2552 ธุรกิจเกมและแอนิเมชั่นในประเทศสิงคโปร์มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสิงคโปร์มีจุดแข็งในด้านการมีชื่อเสียงด้านธุรกิจแอนิเมชั่นมายาวนาน สามารถดึงดูดบริษัทสตูดิโอระดับโลกให้มาเปิดสตูดิโอภายในประเทศได้ รวมถึงยังเป็นแหล่งดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถด้านการผลิตแอนิเมชั่นจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานภายในประเทศ

จากขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอาเซียนดังกล่าว เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์การแข่งขัน ประกอบกับมูลค่าตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 66 ดังนั้น ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยและภาครัฐจำเป็นต้องร่วมมือกันผลักดันธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าการบริโภคและการส่งออกแอนิเมชั่นไทยให้เติบโตขึ้น โดยมีแนวทาง ดังนี้

- ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทย: แม้ว่าผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยจะมีการรับจ้างช่วงต่อจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยมีจุดแข็งในด้านความละเอียดและเทคนิคขั้นตอนการผลิตและขั้นตอนหลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอนิเมชั่นที่เป็นส่วนประกอบของโฆษณา ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการรับงานที่แตกต่างจากประเทศคู่แข่งในอาเซียนแล้ว ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตแอนิเมชั่น ที่มีเอกลักษณ์ แปลกใหม่ สามารถสร้างความจดจำและความประทับใจให้กับผู้ชมควบคู่กันไป ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาคาแรกเตอร์ของการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นของตนเองและเผยแพร่ผ่านช่องทางโรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ สื่อบันทึกรูปแบบวีซีดีและดีวีดี อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ท ซึ่งผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยจะสามารถต่อยอดจากคาแรกเตอร์ของการ์ตูนแอนิเมชั่นไปสู่การสร้างรายได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนต่อไปได้

- ภาครัฐ: ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมด้านการตลาดและการเผยแพร่ผลงานแอนิเมชั่นในต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางในการสร้างความรับรู้และจดจำแอนิเมชั่นไทยในสายตาชาวต่างชาติ การส่งเสริมการลงทุนด้านแอนิเมชั่นจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยการขยายขอบเขตประเภทธุรกิจเกี่ยวกับแอนิเมชั่นที่จะได้รับสิทธิพิเศษด้านการลงทุน ให้ครอบคลุมทุกกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่จะนำมาซึ่งปริมาณการรับจ้างช่วงต่อการผลิตแอนิเมชั่นของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น และยังส่งผลให้สามารถดึงดูดแรงงานแอนิเมชั่นไทยที่มีแนวโน้มจะไปทำงานในต่างประเทศเนื่องจากได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า ให้ยังคงทำงานภายในประเทศได้ โดยพบว่าในปัจจุบัน มีการให้การส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น เฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น