posttoday

โรงพยาบาลจุฬารัตน์"เล็กพริกขี้หนู"

15 พฤษภาคม 2556

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ของ นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ เซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายไปเมื่อวันอังคารที่ 7 พ.ค. จากนั้นวันรุ่งขึ้นขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรกทันที วันที่ 8-10 พ.ค. จำนวน 220 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.30 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 16 พ.ค.นี้

นั่นอาจเป็นเพราะขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศส่วนใหญ่ แต่ขายให้นักลงทุนรายย่อยเพียง 40% และผลสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบัน ก็ออกมาดี

“สุวภา เจริญยิ่ง” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย กล่าวว่า ผลสำรวจความต้องการจากนักลงทุนสถาบัน และการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) มียอดจองเกินกว่า 10 เท่า โดยมีสัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ที่ 17 เท่า ในขณะที่ พี/อี กลุ่มอยู่ที่ 27 เท่า

ทั้งนี้ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการ จัดจำหน่ายร่วม คือ บล.กรุงศรี บล.ทรีนีตี้ บล.ไอร่า บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย

CHG เป็นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลาง ทุนจดทะเบียน 880 ล้านบาท ประกอบธุรกิจภายใต้ชื่อโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ประกอบด้วย โรงพยาบาล 3 แห่ง และคลินิก 7 แห่ง จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยใน 386 เตียง มีห้องตรวจให้บริการผู้ป่วยนอก 87 ห้อง

จุดเด่นคือ เป็นโรงพยาบาลขนาดกลางให้บริการครอบคลุมทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยภายใต้โครงการประกันสังคม เป็นผู้นำในการให้บริการโรงพยาบาลเอกชนในเขตภาคตะวันออกและ จ.สมุทรปราการ ที่เติบโตตามการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในเขตภูมิภาค และแนวโน้มผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2556-2558 จากการขยายฐานลูกค้า เงินสดและเปิดศูนย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น

นพ.กำพล กล่าวว่า กิจการของบริษัทเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยต่อปีกว่า 20% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจ่ายเงินผู้ประกันตนตามจริง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตดีขึ้น

สำหรับอัตรากำไรสุทธิของบริษัทนับตั้งแต่ปี 2551 อยู่ที่ 8.3% และเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกระทั่งล่าสุดปี 2555 อยู่ที่ 18%

อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในปี 2555 สูงถึง 72.8% และ 84% ตามลำดับ ที่เพียงพอต่อการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

“ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทเป็นผู้ประกันตนกว่า 3 แสนราย คิดเป็น 55% ของรายได้รวมปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,800 ล้านบาท และการที่บริษัทมีฐานลูกค้าฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมจึงสามารถรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด”

สำหรับเงินทุนที่ได้จะนำไปขยายสาขาเพื่อให้บริการ 3 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาให้บริการ 10 สาขา และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและคนเกิดขึ้นจำนวนมาก

นพ.กำพล กล่าวว่า การที่ผลดำเนินงานของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง และเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สินเลยและมีกำไรต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ

สุวภา กล่าวว่า นักวิเคราะห์ในตลาดให้ราคาเหมาะสมที่ 8.70-10 บาท ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนในระดับที่ดี

นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความเห็นว่า ให้ราคาที่เหมาะสมหุ้น CHG เทียบเท่า พี/อี 21.6 เท่า เพราะถ้าเทียบหุ้นโรงพยาบาลระดับกลาง คือ บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) และบริษัท ศิครินทร์ (SKR) รวมถึงบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ที่เป็นโรงพยาบาลระดับกลาง-ล่างรายใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าทั้งสามรายซื้อขายที่ค่าเฉลี่ย พี/อี 21.12 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 13.6%

เทียบ CHG ในปี 2555 สูงกว่าค่าเฉลี่ย คือ 18% รองจาก BCH ที่อยู่ที่ 20.2% ดังนั้นมูลค่า ที่เหมาะสมของ CHG จึงควรอยู่ที่ พี/อี 23-25 เท่า หรือมูลค่าตลาด 9,361-9,768 ล้านบาท จึงให้มูลค่าพื้นฐานเท่ากับมูลค่าตลาดหุ้น 9,570 ล้านบาท เทียบ พี/อี 23.5 เท่า

เรียกได้ว่าเป็นหุ้นโรงพยาบาลเล็กถ้าเทียบโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) หรือ BCH และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH)

ความเสี่ยงสำหรับหุ้นนี้ คือ

ประการแรก กำลังการให้บริการผู้ป่วยจำกัด หาก ไม่สามารถขยายงานได้ทันตามกำหนด อาจส่งผลให้การเติบโตไม่เป็นไปตามคาด

ประการที่สอง จำนวนผู้ป่วยประกันสังคมมารับบริการเกินคาด อาจทำให้อัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าประมาณการ

แต่บริษัทส่วนใหญ่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากโครงการประกันสังคม และ CHG สามารถเบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคมตามความรุนแรงของโรค ในกรณีที่ผู้ป่วยในเข้ารับการรักษาในอัตราไม่เกินครั้งละ 1.5 หมื่นบาท

ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต แต่ในอดีตไม่เคยประสบปัญหานี้ ประการที่สาม ความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจโรงพยาบาล ทำให้มีความเสี่ยงจากการถูกซื้อกิจการ