posttoday

โต้งย้ำกู้2ลล.ช่วยศก.ไทยมั่นคง

16 มีนาคม 2556

กิตติรัตน์ ปลื้ม ฟิทช์เพิ่มเครดิตเศรษฐกิจไทย ย้ำกู้เงิน2ล้านล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจ มั่นคงหนี้สาธารณะไม่เกิน50%

กิตติรัตน์ ปลื้ม ฟิทช์เพิ่มเครดิตเศรษฐกิจไทย  ย้ำกู้เงิน2ล้านล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจ มั่นคงหนี้สาธารณะไม่เกิน50%

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน เกี่ยวกับกรณีที่ฟิทช์ปรับเครดิตประเทศไทย และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กรณีที่ฟิทช์เรตติ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ไทยมาอยู่ระดับ BBB+ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือกลับมาอยู่ในระดับเดิมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 และปัจจัยสำคัญที่มีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือมาจาก 5 ปัจจัยสำคัญเช่น การเมืองของไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดี อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การที่ประเทศไทยมีการเตรียมการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังมีการลงทุนในทรัพย์สินที่จะเป็นการสร้างศักยภาพให้ประเทศรองรับการแข่งขันในอนาคต

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมตรียังระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แทนการใช้งบประมาณประจำปีในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โดยระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนโดยงบผูกพันในแต่ละปี ทำให้โครงการขาดความต่อเนื่อง เพราะงบบางปีถูกตัดลดทอนตามฐานะการคลัง แต่การออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทำให้เกิดความชัดเจนแหล่งที่มาของเงินลงทุนและเป้าหมายในการดำเนินการภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ 7 ปี

ส่วนข้อห่วงใยในเรื่องฐานะทางการคลังนั้น นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบทำให้หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงเกินกว่าร้อยละ 50 ในขณะเดียวกัน การตรวจสอบการใช้เงินกู้ตั้งแต่เริ่มโครงการจะเป็นไปอย่างเข้มข้น เนื่องจากกระทรวงการคลังได้มีการเข้าไปดำเนินการปรับปรุงกระบวนการกำหนดราคากลางให้มีการคำนวณในสูตรที่เป็นราคาปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการในเรื่องนี้ จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการกำหนดมูลค่าโครงการต่าง ๆ ได้

ส่วนกรณีที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาเยี่ยมชมงานระบุว่า การดำเนินโครงการเหล่านี้ไม่มีเรื่องอะไรใหม่ และดำเนินการตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขอโต้แย้งเรื่องดังกล่าว เนื่องจากการเข้าไปตรวจสอบการเข้าไปทำงานในรัฐบาลสมัยนั้น ไม่พบวาระการทำงานที่มีการผลักดันโครงการสำคัญความเร็วสูง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ รวมทั้งมีการรวบรวมโครงการด้านคมนาคมขนส่งมาไว้ด้วยกัน เพื่อผลักดันอย่างจริงจัง ส่วนกรณีที่ออกมาระบุว่า การดำเนินโครงการเหล่านี้ สามารถกำหนดให้โครงการลงทุนอยู่ในงบประมาณประจำปีนั้น เรื่องนี้ การแยกโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ออกมาจากงบประมาณปกติ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังได้กล่าวถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในภาวะที่ประเทศไทยเพิ่งฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทำได้สูงกว่าร้อยละ 6 ต่อปี แม้ว่าการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 3 และช่วง 7 ปีข้างหน้า แม้ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ประเทศในซีกโลกตะวันตกยังไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าการลงทุนในภาครัฐจะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยรัฐบาลขอย้ำว่า การลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจะได้ทรัพย์สินที่มูลค่าและอยู่กับประเทศไปหลายศตวรรษ ในขณะที่ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นก็จะดำเนินการชำระคืนช่วงไม่กี่ทศวรรษก็จะหมดลงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า