posttoday

SCB CIO ชี้ช่อง ต่อยอดความมั่งคั่งกับ สู้เงินเฟ้อ

15 มิถุนายน 2565

SCB CIO ชี้ช่องลงทุนผ่าน Wealth Lending Products สร้างกระแสเงินสด ต่อยอดความมั่งคั่งกับ Property Backed Loan - Lombard Loan เครื่องมือสู้เงินเฟ้อ

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่องทางการบริหารเงินสามารถดำเนินการผ่านสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย และมีสภาพคล่องที่แตกต่างกันไป ตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา นักลงทุนที่ถือครองสินทรัพย์ทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด เงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เริ่มเรียกเก็บเต็มจำนวนในปีนี้ ส่วนปัจจัยต่างประเทศจากความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิศาสตร์ ( geopolitical risks ) และความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ( High net worth ) มองหาสภาพคล่องในสินทรัพย์ที่ถือครองเพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้ และกระจายความเสี่ยง โดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ เพราะอาจทำให้เสียโอกาสหากมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองมีการปรับตัวขึ้นในอนาคต

สินทรัพย์ของนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงถือครอง ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวสามารถนำมาจำนองกับธนาคาร โดยอยู่ภายใต้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภท Wealth Lending Products ประกอบด้วย Property Backed Loan โดยการนำสินทรัพย์ประเภทที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มาจำนองกับธนาคาร และ Lombard Loan เป็นการนำหลักทรัพย์ ประเภท หุ้นกู้ มาจำนองกับธนาคาร โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับนักลงทุน ในอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ ระหว่าง 2.5 - 4% ต่อปี ขึ้นกับระยะเวลาชำระคืนเงินต้น โดยเงินกู้ที่นักลงทุนได้รับจะนำมาลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ทั้งผลิตภัณฑ์ของธนาคารและบริษัทในเครือ เช่น SCB Securities , SCB Asset Management และ SCB Julius Bar โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของธนาคารเป็นที่ปรึกษาและแนะนำการลงทุน (Investment Advisor) ผ่าน Investment Portfolio โดยวางเป้าหมายผลตอบแทนให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk appetite) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้งอกเงย ดีกว่าปล่อยที่ดินรกร้างหรือ ถือหลักทรัพย์ที่มูลค่าลดลงตามภาวะตลาด ทั้งนี้ แม้นักลงทุนจะต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆก็ตาม แต่ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน สามารถต่อยอดความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้นักลงทุนมีเงินหมุนเวียนในการลงทุน ทั้งนี้ สินเชื่อ Wealth Lending Product เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1) เพื่อใช้จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะที่ดินรกร้างซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกสามปีตามโครงสร้างของอัตราเพดาน และราคาประเมินกรมที่ดินที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในอนาคต หลังจากมีการเลื่อนการประกาศราคาประเมินใหม่ เพราะสถานการณ์โควิด ราคาประเมินครั้งสุดท้ายจัดทำขึ้นในรอบปี 2559-2562 โดยคาดว่าจะมีการประกาศราคาประเมินใหม่ในต้นปี 2566 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนลงทุนหรือใช้ประโยชน์บนที่ดิน ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส (opportunity cost) และค่าภาษีที่ดินที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำที่ดินมาขอสินเชื่อ Property Backed Loan โดยนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุนสร้างผลตอบแทน เพื่อนำมาชำระภาษีและลดความกังวลในเรื่องของการหาผู้เช่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และ การปรับปรุงที่ดิน โดยไม่เสียโอกาสหากอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือขายทำกำไรเมื่อโอกาสมาถึง นอกจากนี้ สินเชื่อ Property Backed Loan มีความยืดหยุ่น นักลงทุนสามารถชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการชำระคืนก่อนกำหนด ยกเว้น refinance กับธนาคารอื่น

2) ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เงินเฟ้อ ลูกค้าสามารถนำหุ้นกู้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ลดลง มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ Lombard โดยนำเงินกู้ที่ได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มีการปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust หรือ REIT) บางประเภท เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ต หรือช่วยลดผลกระทบของพอร์ตในช่วงนี้ได้

3) ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสภาพคล่องและไม่พลาดเมื่อจังหวะการลงทุนมาถึง นักลงทุนอาจจะไม่ต้องการขายหลักทรัพย์ ประเภทหุ้นกู้ ที่มีผลตอบแทนติดลบในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวน และคาดว่าราคาของหลักทรัพย์ จะมีการปรับตัวขึ้นในอนาคต โดยได้เห็นโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น Private Assets หรือ หุ้นกู้อนุพันธ์ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ และช่วยเพิ่มผลตอบแทน หรือ ลดผลขาดทุนของพอร์ตโฟลิโอในปัจจุบันได้ โดยนักลงทุนสามารถนำหลักทรัพย์มาขอสินเชื่อ Lombard กับธนาคารได้ เพื่อนำเงินกู้ไปลงทุน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของทีมที่ปรึกษาการลงทุน นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า สินเชื่อ Wealth Lending Product ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มียอดการขอสินเชื่อเพื่อสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 20% โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตสำหรับปีนี้ไว้ขั้นต่ำที่ 10,000 ล้านบาท และผลตอบแทนคาดการณ์สำหรับความเสี่ยงระดับกลางของพอร์ตการลงทุน มีโอกาสอยู่ที่ประมาณ 7 - 8 % ต่อปี นอกจากนี้ ทีมที่ปรึกษาการลงทุนสามารถนำเสนอการลงทุนในหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนที่มาใช้สินเชื่อ wealth lending