posttoday

พ่อสอนลูกรวย (ตัวจริง)

18 ตุลาคม 2561

คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องการเงินที่ถูกพูดถึงและนำมาปฏิบัติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

ความบางตอนจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธ.ค. 2540

“เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน ที่จริงก็ได้เคยให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้า...ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับก็คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์ แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก

ถามเขาว่าแชร์คืออะไร เขาก็อธิบายว่าเป็นเงินที่จ่ายให้เจ้ามือ จ่ายให้เขาทุกเดือน เมื่อเดือดร้อนก็ขอ “ประมูลแชร์” ได้ แต่การประมูลนี้ก็หมายความว่า สมมติว่าแชร์หนึ่งต้องเสียเดือนละ 100 บาท เขาก็จะได้รับคล้ายๆ เงินกู้ ควรจะได้เป็นเงิน 1,200 บาทต่อปีหนึ่ง โดยให้ 100 บาท/เดือน ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับ 1,200 บาท เขาได้ราวๆ 800 บาท หรือ 700 บาทเท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้ คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย

ถามเขาว่า ทำอย่างนี้สามารถที่จะหมุนเงินได้หรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ซ้ำอีกทีหนึ่ง เขาบอกว่าสำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมาทำแชร์สัปดาห์คือ 7 วัน 7 วันนี้เขาก็เปียแชร์มาสำหรับไปใช้ค่าแชร์เดือน

เขาก็นึกว่าเขาฉลาด ความจริงแชร์นี่ไม่ใช่เฉพาะคนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์ ได้บอกให้เขาเลิกแชร์ เลิก แล้วให้ทำบัญชีต่อไป ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา

การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ …”

หลังได้อ่านแล้วรู้สึกสะดุดใจก็คือ ข้อความข้างต้นในย่อหน้าสุดท้าย ที่พระองค์ทรงสอนว่า ... “การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี”

“เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

ที่บอกว่า สะดุดใจ เพราะผมเองเป็นคนแปลหนังสือดังเล่มหนึ่ง ซึ่งหลายท่านก็คงทราบว่า หนังสือเล่มนั้นคือ Rich Dad Poor Dad หรือ พ่อรวยสอนลูก ซึ่งหลักคิดที่โด่งดังของเขา ก็คือ แนวคิดที่แยกแยะ “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” พร้อมกับสอนด้วยว่า คนเราไม่ควรกลัวการเป็นหนี้ เพราะหนี้เองในโลกนี้ ก็ยังมีทั้งหนี้ที่ดี และหนี้ที่เลว

หนังสือ Rich Dad Poor Dad โรเบิร์ตเขียนขึ้นในปี 1997 (พ.ศ. ​​2540) แต่เขียนและพิมพ์จัดจำหน่ายเอง จึงยังไม่เป็นที่รู้จัก จนเมื่อเขาได้ออกรายการของ โอปราห์ วินฟรีย์ ในปี 1999 เขาจึงดังเป็นพลุแตก และเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์ใหญ่อย่าง Warner Books Ed เผยแพร่หนังสือจำหน่ายไปทั่วโลก และได้รับการนำมาแปลเป็นภาษาไทยในประมาณปี 2001 (พ.ศ. 2544) และเป็นหลักคิดสอนการเงินคนไทยกันมานาน

ที่รู้สึกสะดุด (และสะอึก) ก็คือ พระองค์ท่านสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2540 พูดก่อนแนวคิดของอิทธิพลหนังสือเล่มนี้จะเข้ามาในเมืองไทยเสียอีก ที่รู้สึกเสียใจคือ ไม่ค่อยมีใครหยิบหรือน้อมนำแนวคิดของพระองค์ท่านมาปรับใช้ และทำให้หนี้จนก็ยังเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยเสมอมา

ถ้ามีเวลา ผมอยากแนะนำให้อ่านพระราชดำรัสดังกล่าวกันครับ พระองค์ท่านสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลไว้เยอะมากในปีดังกล่าว (มีอยู่ 4-5 กรณีศึกษา) ด้วยคาดว่าน่าจะเป็นปีที่ประเทศไทยซึ่งในตอนนั้นต้องการก้าวไปสู่การเป็นเสือเศรษฐกิจ แต่พลาดจนเศรษฐกิจต้องล้มระเนระนาด เนื้อความในพระบรมราโชวาทจึงมุ่งเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ

และแน่นอนพระองค์ทรงอธิบายเรื่องความแตกต่างของ “เศรษฐกิจการค้า”​ และ ​“เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้อย่างแยบคาย สั้น แต่ชัดเจน และได้ใจความ

สำหรับผมเมื่ออ่านจบ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีจริงๆ ที่ได้เกิดในแผ่นดินของท่าน และได้รู้ซึ้งเลยว่า ใครคือ “พ่อที่สอนให้ลูกรวย” ได้อย่างเรียบง่ายและผลักดันเรื่องนี้กับลูกๆ ทุกคนอย่างแท้จริง