posttoday

เรื่อง(ไม่)อยากเล่า เกี่ยวกับบัตรเครดิต

12 มกราคม 2560

ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ได้ยินทางวิทยุ แม้จะไม่ได้รู้จักมักจี่กับท่านวิทยากรผู้บรรยายเจ้าของรายการ

โดย...บีเซลบับ ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ได้ยินทางวิทยุ แม้จะไม่ได้รู้จักมักจี่กับท่านวิทยากรผู้บรรยายเจ้าของรายการ หากก็คิดว่าเรื่องที่จะนำมาเผยแผ่ต่อนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน สมเจตนารมณ์ของผู้บรรยาย ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนา ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งเป็นภาคีสมาชิก สาขาศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน

ดร.บรรจบ บรรยายทางวิทยุมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า ท่านเพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐ เพื่อกิจธุระด้านพระพุทธศาสนา เมื่อไปถึงได้นัดแนะไว้ก่อนกับผู้ประสานงานให้มารับที่สนามบิน ขาไปยังไม่มีปัญหา แต่เมื่อเสร็จงานที่เมืองหนึ่งกำลังจะไปต่อธุระอีกเมืองหนึ่ง ปัญหาก็เกิดขึ้น

ท่านเล่าว่า ในตอนแรกไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร ท่านเดินทางคนเดียวและปัญหาก็เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้ออกจากสนามบินนั้นเลย นั่นคือในตอนที่เมื่อจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการโหลดกระเป๋า ปรากฏว่าที่สนามบินในต่างประเทศแห่งนั้น ไม่รับเงินสดของท่าน แต่จะให้ท่านชำระด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น

ดร.บรรจบ กล่าวว่า รู้สึกตกใจขึ้นมาทันที เพราะไม่ได้เตรียมใจว่าจะมีปัญหา เงินทองเตรียมไว้แต่เขาไม่รับ เขาจะเอาแต่บัตรเครดิต และเนื่องจากเป็นท่าอากาศยานในต่างประเทศซึ่งไม่คุ้นเคย ทั้งด้วยภาษาและธรรมเนียมปฏิบัติ กฎระเบียบต่างๆ ของสนามบิน ผู้ประสานงานก็มิได้บอกไว้ก่อนว่า การโดยสารเครื่องบินภายในประเทศจะต้องใช้บัตรเครดิต หรือเขาจะนึกว่าสมัยนี้ใครๆ ก็มีบัตรเครดิตก็เป็นไปได้

การที่ผู้โดยสารเครื่องบินต้องชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วยบัตรเครดิต มีเหตุผลอยู่ว่าเพราะระบบสายการบินในประเทศ (หรือจะต่างประเทศด้วยก็ไม่ทราบ) ถูกเซตไว้เช่นนั้น เครื่องมือในการรับชำระเงินถูกเซตหรือจัดตั้งระบบมาเพื่อรองรับกับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น เมื่อให้เป็นเงินสดไปก็ไม่มีเงินทอนและไม่มีใครทอน เพราะระบบไม่รองรับ

นี่เป็นเรื่องแปลกแต่จริงของผู้ไม่ถือบัตรเครดิตที่ในยุคสมัยนี้ อย่างน้อยก็ผู้บรรยายทางวิทยุนี้ 1 คน ท่านให้เหตุผลของการที่ไม่ถือบัตรเครดิตว่า ท่านเห็นตัวอย่างจากเพื่อนผู้หนึ่งของท่าน ที่เมื่อมีบัตรเครดิตแล้วไม่บันยะบันยังการใช้จ่าย ทั้งที่เคยบวชเรียนแต่สติหลุดไปเมื่อถือบัตร อาจเพราะใช้ง่าย ยังไม่ต้องทันคิดว่ามีเงินในกระเป๋าพอจ่ายหรือไม่ แค่ยื่นบัตรก็ได้สินค้าหรือบริการมา ง่ายอะไรอย่างนั้น

เรียกว่าถือบัตรเครดิตแล้วกำหนดสติไม่ทันกันทีเดียว ในวันนั้นโชคของท่านยังดีอยู่บ้าง เมื่อมีเจ้าหน้าที่สนามบินคนหนึ่ง ได้ดูแลและช่วยท่านหอบหิ้วกระเป๋าสัมภาระพะรุงพะรัง เดินหาเครื่องที่รับเงินสดทั่วทั้งสนามบิน ต้องเดินกันไม่ใช่น้อยๆ กว่าจะเจอก็ปาเข้าไปเป็นชั่วโมงๆ  เดินไปทางไหนก็ไม่พ้นต้องถูกเข้าใจไปในทางที่ว่า ท่านมีของผิดกฎหมายหรืออย่างไร ถึงได้โดนเจ้าหน้าที่หิ้วกระเตงไปทางโน้นทางนี้ ท่านถึงกับเข็ดเขี้ยว คิดในใจว่าบัตรเครดิตมีก็ไม่ดี ไม่มีก็ไม่ได้

ท่านกล่าวถึงโทษของบัตรเครดิตว่ามีมาก ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือไม่มีวินัยในการใช้เงิน เพราะสามารถทำให้ผู้ใช้กลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเหมือนเพื่อนของท่านได้ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตค้างชำระมีตั้งแต่ 18% ไปจนถึง 36% แล้วแต่ผู้ออกบัตร ด้วยตัวเลขจำนวนนี้ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี จะทำให้ดอกเบี้ยท่วมเงินต้น ของที่รูดบัตรซื้อมาในราคา 5,000 บาท กลายเป็น 1 หมื่นบาทไปง่ายๆ

“ความสะดวกที่ได้คุ้มกันหรือไม่กับค่าดอกเบี้ยที่เบ่งบานอย่างรวดเร็ว เจ้าของบัตรเครดิต ถ้าใช้ (บัตร) ไม่คิด ไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ในที่สุดจะตกอยู่ในวังวนของการเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นต้ว เป็นความทุกข์แสนสาหัสชนิดหนึ่ง” ดร.บรรจบ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่สนามบินในต่างประเทศดังกล่าว ท่านผู้บรรยายสรุปว่า โลกยุคปัจจุบันอาจต้องคิดเผื่อเหลื่อเผื่อขาดเรื่องบัตรเครดิต การไม่มีบัตรเครดิตใช้ในโลกที่คนส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิต ถือเป็นเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ชนิดหนึ่งเช่นกัน 

สรุปว่า เรื่อง (ไม่) อยากเล่าของบัตรเครดิต คือ มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ ใครเป็นเจ้าของบัตรหรือใครที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของบัตร ต้องรับรู้และทำความเข้าใจในฐานะผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่ทรงสิทธิการใช้จ่าย (ผ่านบัตร) แต่ก็มีภาระหน้าที่ในการชำระเครดิต มีแต่อย่าใช้! หมายถึงใช้เท่าที่จำเป็น เจ้าของเรื่องสรุปแบบขำๆ