posttoday

ประกันเพื่อผู้สูงอายุ สบายใจ ได้ความคุ้มครอง (จริง)

16 เมษายน 2559

ถึงจะผ่าน “วันผู้สูงอายุ” ของปีนี้มาแล้ว แต่ “ความทุกข์” ของผู้สูงอายุยังชัดเจน จากผลการสำรวจ

โดย...สีวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ถึงจะผ่าน “วันผู้สูงอายุ” ของปีนี้มาแล้ว แต่ “ความทุกข์” ของผู้สูงอายุยังชัดเจน จากผลการสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “สุข-ทุกข์ ของผู้สูงอายุไทย ปี 2559”

ทุกข์สุดๆ ของผู้สูงอายุในปีนี้ยังเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ (และคงเป็นเรื่องเงินไปอีกนานแสนนาน) ไม่ว่าจะเป็นไม่มีเงินใช้ ไม่มีเงินออม หรือแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่พอใช้

ทุกข์อันดับต่อมาก็ยังไม่หนีเรื่องเงิน เพราะเป็นทุกข์จากการไม่มีงานทำ ทั้งๆ ที่ยังอยากจะทำงาน และเมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้มาเลี้ยงตัว

ทุกข์อันดับ 3 ก็ยังเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เหมือนเดิม นั่นคือ แม้จะสูงวัยแต่ยังไม่หมดหนี้ เพราะฉะนั้นจึงยังต้องมีภาระที่ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้

ทุกข์อันดับ 4 คือ ไม่มีเพื่อน

ทุกข์อันดับ 5 เป็นเรื่องสุขภาพกาย ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว และต้องไปหาหมอ

ทุกข์อันดับ 6 คือ ไม่มีลูกหลาน อยู่คนเดียว หรือมีลูกหลานแต่ลูกหลานไม่สนใจดูแล

ทุกข์อันดับสุดท้าย เป็นเรื่องของจิตใจ ทั้งจิตใจไม่เบิกบาน ไม่สดชื่นแจ่มใส หม่นหมอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า (ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะมาจากทุกข์ทางเงิน ทุกข์ทางกาย ที่ส่งผลมาถึงทุกข์ทางใจก็ได้)

เชื่อได้เลยว่า ทุกข์ของผู้สูงอายุคงไม่ได้มีแค่ 7 ข้อนี้แน่ๆ และหนึ่งในทุกข์ที่คนสูงอายุอาจจะเจอ คือ ทุกข์ที่ซื้อประกันแล้วไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่หวังไว้ โดยเฉพาะประกันที่โฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ” ไม่ว่าความทุกข์นั้นจะเกิดจากความผิดพลาด ความบกพร่อง หรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ตามแต่

ประกันสำหรับผู้สูงอายุ

ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนอายุมากๆ โดยเฉพาะถ้า 60 ปีไปแล้ว จะหาบริษัทที่รับทำประกันก็แสนยากเย็น หรือถ้ารับทำก็มีเงื่อนไขหยุมหยิมเต็มไปหมด และแทบไม่ต้องพูดถึงเบี้ยประกัน เพราะรับรองว่าไม่ถูกแน่ๆ

แต่ตอนนี้มีให้เลือกซื้อหลายแบบ หลายบริษัท จนบางทีก็ตาลายไม่รู้จะเลือกซื้อแบบไหน บริษัทอะไรดี และที่สำคัญแทบทุกบริษัทจะบอกว่า จ่ายเบี้ยกันแค่วันละไม่กี่บาท

ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ ก็มีแบบที่ออกมาเพื่อเอาใจผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และมีทั้งแบบที่ต้องตรวจสุขภาพแบบเดียวกับประกันทั่วไป กับประกันที่ไม่ต้องตรวจ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

*ประกัน... (เพื่อผู้สูงอายุ)

ช่วงแรกที่บริษัทประกันชีวิตออกแบบประกันมาเอาใจผู้สูงอายุ (กระหน่ำโฆษณาผ่านจอทีวี) ก็ทำให้ผู้สูงอายุทุกข์ไปหลายคน เกิดข้อร้องเรียนมากมาย จนทำให้เกิดการปรับปรุงไปสู่
สิ่งที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะการหาแนวทางร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการแก้ไขแบบข้อความและเอกสารประกอบกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างกรมธรรม์แบบทั่วไปและแบบผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น

พร้อมกับขอให้ปรับแก้ไขโฆษณาประกันชีวิตผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ทำให้เกิดความสับสน และเพื่อความชัดเจนมากขึ้น คปภ.จึงกำหนดลักษณะของ “กรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ” เอาไว้ว่า จะต้องมีสาระสำคัญต่อไปนี้ คือ

1.ต้องกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้เอาประกันภัยไว้ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

แต่สำหรับอายุสูงสุดที่จะรับประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ซึ่งมีทั้งที่รับประกันจนถึงอายุ 70 ปี และบางบริษัทรับได้ถึงอายุ 75 ปี และคุ้มครองไปตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 ปี

2.ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต และไม่ต้องตรวจสุขภาพ

3.หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีนับแต่วันทำสัญญา บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาแล้ว พร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์

เงินเพิ่ม หรือถ้าจะให้เช้าใจง่ายๆ มันก็คือ “ดอกเบี้ย” ที่เราจะได้จากเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปแล้ว ซึ่งบริษัทประกันส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “ได้เงินคืน 102% ของเบี้ยประกัน” ซึ่งจริงๆ แล้วสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ประกันเพื่อผู้สูงอายุ สบายใจ ได้ความคุ้มครอง (จริง)

 ถ้าเราจ่ายเบี้ยประกันรายปี ปีละ 1 หมื่นบาท พอครบปียังไม่ทันจะจ่ายเบี้ยประกันปีที่ 2 ก็เจ็บป่วยเสียชีวิต ลูกหลานเราจะได้เงินคืนจากบริษัทประกันเท่ากับ 1 หมื่นบาท กับดอกเบี้ยอีก 200 บาท เท่านั้น

4.ให้ระบุข้อความว่า “(เพื่อผู้สูงอายุ)” ต่อท้ายชื่อแบบประกันบนเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เอกสารสรุปสาระสำคัญและใบคำขอเอาประกันชีวิต

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นชื่อ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบ... (เพื่อผู้สูงอายุ) ก็มั่นใจได้เลยว่า จะไม่มีเงื่อนไขตุกติกผิดไปจากนี้แน่นอน

5.เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายสินไหมมรณกรรมตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ โดยไม่มีการปฏิเสธการจ่ายสินไหมด้วยเหตุผลใดๆ โดยสิ้นเชิง

แต่ในข้อนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า “เงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์” มีอะไรบ้าง

ที่แน่ๆ คือ ไม่ว่าเราจะทำทุนประกันไว้กี่แสนบาท (แต่ประกันแบบนี้จะกำหนดทุนประกันสูงสุดไว้ไม่เกิน 6 แสนบาท) แต่ถ้าเราเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก เราจะไม่ได้เงินตามทุนประกัน แต่จะได้แค่เบี้ยประกันที่จ่ายไปแล้วบวกเงินเพิ่มไม่น้อยกว่า 2% เท่านั้น

แต่หากเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยในปีที่ 3 เป็นต้นไป ลูกหลานจะได้รับเงินจากบริษัทประกันเต็มจำนวนตามทุนประกันที่กำหนด หรือถ้าเรามีชีวิตอยู่จนครบสัญญา (ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ 90 ปี) เราจะได้รับเงินเท่าทุนประกันเช่นกัน

ประกันแบบนี้จึงเหมาะที่จะเป็นเงินที่ทิ้งไว้ให้ลูกหลานเมื่อเราจากไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประกันบางแบบเปิดให้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ เช่น ประกันอุบัติเหตุ ที่คุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ ที่คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย จ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

แต่ในกรณีที่ซื้อความคุ้มครองเพิ่มอาจจะต้องตรวจสุขภาพ หรือตอบคำถามสุขภาพ เพิ่มจากแบบประกันเพื่อผู้สูงอายุ

*ประกันอุบัติเหตุ

ถ้าไม่ได้เน้นประกันชีวิต หรือเงินที่จะทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ผู้สูงอายุสามารถซื้อประกันอุบัติเหตุก็ได้ เพราะสามารถซื้อได้จนถึงอายุ 70 ปี หรือประกันเพื่อผู้สูงอายุบางแบบเปิดให้ซื้อประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติมได้จนถึงอายุ 76 ปี

ประกันอุบัติเหตุจะให้ความคุ้มครองปีต่อปี และต้องไม่ลืมว่า บริษัทประกันมีสิทธิปฏิเสธการรับประกันเมื่อไรก็ได้ แต่ไม่ว่าจะซื้อเมื่ออายุเท่าไร ก็ต้องตอบคำถามสุขภาพ และจะคุ้มครองเฉพาะอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากอาการป่วย

จริงๆ แล้วประกันอุบัติเหตุเป็นประกันที่เหมาะมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะอาการหนัก เพราะกระดูกเปราะง่าย

*ประกันสุขภาพ

ถ้าเป็นการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิต จะสามารถซื้อเป็น “สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ” แปลว่า เราต้องมีประกันหลักเสียก่อน ทำให้ต้องตอบคำถามสุขภาพ และอาจต้องตรวจสุขภาพ เช่นเดียวกับการทำประกันชีวิตแบบทั่วไป

เพราะฉะนั้นเราต้องตอบทุกอย่างตามความเป็นจริง จะได้ไม่ถูกบอกเลิกสัญญาภายหลัง และบริษัทมีสิทธิจะไม่รับประกัน หรือไม่คุ้มครองโรคที่เราเป็นอยู่แล้ว ดังน้นถ้าคิดจะทำต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่สุขภาพยังดี

อายุสูงสุดที่รับประกันอาจจะมีตั้งแต่ 50-70 ปี ขึ้นกับข้อกำหนดของบริษัทประกันชีวิตแต่ละแห่ง ขณะที่การทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาหลัก สามารถซื้อได้แบบปีต่อปี และได้รับความคุ้มครองจนถึงอายุ 70 ปี ในกรณีที่เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนอายุครบ 65 ปี

เข้าใจแล้วจะสบายใจ

เพราะแบบประกันมีการพัฒนาตลอดเวลา เพื่อเอาใจลูกค้าและสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะประกันเพื่อผู้สูงอายุที่น่าจะเป็น “ลูกค้ากลุ่มใหญ่” ทำให้เราเห็นประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุที่มีเงินคืนระหว่างทาง หรือแม้แต่ประกันชีวิตผู้สูงอายุที่ให้ค่ารักษาพยาบาลด้วย

และคงจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีคำแนะนำและ “เช็กลิสต์” ที่เตรียมไว้ถามเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกันชีวิต เพื่อความเข้าใจประกันที่กำลังจะตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น

1.ความคุ้มครองและผลประโยชน์ตรงตามความต้องการหรือไม่ จะเบิกได้ในกรณีใดบ้าง

2.ศึกษาข้อจำกัดแบบประกันนั้นให้เข้าใจ เช่น มีปัญหาสุขภาพ สามารถสมัครได้ไหม และจะคุ้มครองแค่ไหน

3.ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย

4.ค่าเบี้ยประกันภัยเหมาะสมกับกำลังซื้อหรือไม่

5.แบบประกันนั้นมีข้อจำกัด หรือข้อยกเว้นอะไรบ้าง

6.หากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตต้องทำอย่างไร  ติดต่อที่ไหน เบอร์โทรอะไร

7.เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตมาแล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิต

8.หากมีข้อสงสัยในเงื่อนไข และความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถติดต่อผ่าน ตัวแทนประกัน ศูนย์บริการลูกค้า ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ ของบริษัทประกันชีวิต ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของบริษัทประกันชีวิต

9.หากทำประกันชีวิตไปแล้ว พบปัญหาบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ควรปฏิบัติ ดังนี้

- ตรวจสอบกรมธรรม์ว่ามีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ หรืออุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่

- อ่านเงื่อนไขความคุ้มครองโดยละเอียด เพื่อตรวจสอบเหตุผลที่บริษัทปฏิเสธการจ่าย

- ถ้าเหตุที่ปฏิเสธไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ติดต่อบริษัทผ่านช่องทางบริการต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว

- หากไม่ได้รับความยุติธรรมจากบริษัทประกันภัย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. สายด่วนประกันภัย โทร. 1186

ถ้าไม่อยากจะทุกข์เพราะการทำประกัน ก็จำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจ อย่าเชื่อใคร หรืออะไรง่ายๆ จะได้สบายใจและได้ความคุ้มครองจริงๆ