posttoday

คาดคนซื้อประกันภัยพิบัติปีนี้7.2แสนราย

27 สิงหาคม 2555

คปภ.คาดสิ้นปีนี้มีผู้ทำประกันภัยพิบัติ 7.2 แสนราย วงเงินความคุ้มครอง 3.2 แสนล้านบาท

คปภ.คาดสิ้นปีนี้มีผู้ทำประกันภัยพิบัติ 7.2 แสนราย วงเงินความคุ้มครอง 3.2 แสนล้านบาท

นายตนุภัทร รัตนพูลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) คาดว่าปี 2555 นี้จะมีประชาชนสนใจซื้อประกันภัยพิบัติ 7.2 แสนราย วงเงินความคุ้มครองประมาณ 3.29 แสนล้านบาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 3,577 ล้านบาท

ทั้งนี้ แยกเป็นบ้านอยู่อาศัย 5.19 แสนราย วงเงินความคุ้มครอง 1.89 หมื่นล้านบาท เบี้ยประกันภัย 95 ล้านบาท ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ประมาณ 1.90 แสนราย เบี้ยประกันภัย 824 ล้านบาท และ อุตสาหกรรม 9,618 ราย วงเงินความคุ้มครองประมาณ 2.28 แสนล้านบาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 2,658 ล้านบาท

"ปัจจุบัน ณ 10 ส.ค.2555 มีผู้ทำประกันภัยแล้ว 9.29 หมื่นราย วงเงินความคุ้มครอง 9,426 ล้านบาท มีเบี้ยประกันภัย 65 ล้านบาท ซึ่งบ้านอยู่อาศัยซื้อประกันภัยพิบัติมากที่สุดจำนวน 8.79 หมื่นราย วงเงินความคุ้มครอง 6,611 ล้านบาท"นายตนุภัทร กล่าว

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ.เปิดเผยว่า ประมาณการณ์ของผู้ทำประกันภัยพิบัติได้จากสถิติของคปภ.และบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ(ไทยรี) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ซึ่งมีตัวเลขผู้ทำประกันทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ซื้อประกันเข้ามาอย่างมากในปลายไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่สัญญาประกันภัยสิ้นสุดลง และจะต้องจัดหาการทำประกันภัยใหม่

ขณะนี้ ทางกองทุนฯจึงเริ่มทำการมองหาบริษัทประกันภัยต่อเข้ามารับความเสี่ยงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทนายหน้าประกันภัยข้ามชาติ เพราะมีข้อมูลและมีประสบการณ์ในการเจรจากับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ โดยจะมีการทำประกันภัยต่อเป็นล็อตๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่ซื้อประกันภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ทางกองทุนฯรับไว้

"หากความเสี่ยงที่กองทุนจะต้องรับผิดชอบไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่ต้องทำประกันภัยต่อก็ได้ เพราะมีทุนหน้าตักอยู่ 5 หมื่นล้านบาทสามารถรับผิดชอบเองได้"นายประเวช กล่าว

สำหรับ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วม ทางบริษัทประกันภัยทั้งระบบได้จ่ายไปแล้วจนถึง ณ วันที่ 15 ส.ค.2555 จำนวน 2.94 แสนล้านบาท คิดเป็น 65.17% ของความเสียหายรวม 4.51 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าสินไหมที่เกิดจากธุรกิจหยุดชะงักอีก 3.74 หมื่นล้านบาท หากรวมทั้งหมดจะเป็นค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วม 4.88 แสนล้านบาท