posttoday

จับสัญญาณตลาดจีนครึ่งปีหลัง ถึงเวลากองจีนออกโรง

27 มิถุนายน 2565

หลังจากที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น

เศรษฐกิจจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลจีนมีความสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ได้ดี ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ดีภาพรวมการลงทุนกลับไม่สดใสอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากตลาดหุ้นจีนได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

1) ความกังวลต่อสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาระดับหนี้ที่สูงในระบบเศรษฐกิจของจีน และยังส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนกับประเทศอื่น ๆ

2) การออกนโยบายความมั่นคงร่วมกันของจีน (China Common Prosperity Policy) ที่มีเป้าหมายปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เน้นสร้างความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งการกระจายรายได้ การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้ดียิ่งขึ้น นโยบายเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลายภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Technology, Internet, Property, Financials และ Healthcare โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีแนวโน้มถูกกระทบมากจากนโยบายจำกัดการเข้าถึงข้อมูลและควบคุมระยะเวลาการใช้งานของประชาชน เป็นต้น

3) นโยบาย Zero-COVID มีการควบคุมการระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่เข้มงวด โดยการประกาศ Lockdown พื้นที่ต่าง ๆ ในมณฑล Jiangsu, Jilin, Guangdong, Shaanxi, Shanghai ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศในหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมไม้ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ข้อข้างต้น ได้ส่งผลกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่ำกว่าที่คาดในช่วงที่ผ่านมา

หลังจากที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีเหตุผลสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ ประการแรก ราคาตลาดหุ้นจีนสะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว จากการปรับลดลงของราคาของดัชนี MSCI China (Max drawdown) ตั้งแต่จุดสูงสุดของปี 2021 ในเดือน ก.พ. 2021 ถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2022 ปรับลดลงมากว่า -45% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการปรับฐานนับตั้งแต่ ปี 2007 ที่เฉลี่ยลดลงประมาณ -37% ประการที่สอง Valuation ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของบริษัทที่เกี่ยวกับ Technology โดยเฉพาะด้าน Internet มีแนวโน้มใกล้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประการที่สาม ตลาดหุ้นจีนมักจะปรับตัวดีขึ้นก่อนการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติ (The National Party’s Congress) นับตั้งแต่ปี 1997 ใน 5 ครั้งก่อนการประชุมตลาดหุ้นจีน ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20% ในระยะเวลา 2 เดือนก่อนการประชุม โดยการประชุมครั้งใหม่จะถูกจัดตั้งขึ้นในปลายปี 2022 ประการที่สี่ จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 กำลังปรับตัวลดลง ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม และประการสุดท้าย คือ คาดว่าตลาดหุ้นจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน คาดว่าเม็ดเงินจะสูงถึง 35.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 19% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float น่าจะส่งผลดีต่อหุ้นหลาย ๆ บริษัทและดัชนีตลาดหุ้นจีนในระยะถัดไป

ในระยะยาวตลาดหุ้นจีนยังถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนอย่างมาก จากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ ปัจจัยแรก เศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพขยายตัวได้สูง ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2027-2028 และขนาดเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในปี 2035 ปัจจัยที่สอง โครงสร้างเศรษฐกิจที่สนับสนุนให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง จากจำนวนประชากรที่สูงถึง 1.4 พันล้านคน และมีการประเมินว่าจำนวนประชากรชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นกว่า 45% ภายในปี 2025 โดยประชากรกลุ่มนี้จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในอนาคต ในการผลักดันให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น และสร้างความมั่นใจด้านการลงทุนของภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต และปัจจัยที่สาม คือ การเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลก จากข้อมูลพบว่าประเทศจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยเม็ดเงินลงทุนในด้าน R&D ของจีน ถือว่ามีมูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมีมูลค่าประมาณ 2.5% ของ GDP อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศจีนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามจาก 1) การดำเนินนโยบายควบคุมการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในจีนเข้มงวดมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงให้แก่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน 2) มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021 มีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในประเทศขยายตัวขึ้น 3) ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังตึงเครียดจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและตลาดทุน ที่อาจมีแนวโน้มขยายขอบเขตสู่ความมั่นคงของชาติ และ 4) การใช้นโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจมีแนวโน้มทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศจีนที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และมีความเสี่ยงต่อการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนได้