posttoday

“ความภูมิใจในตัวเอง” (ของเด็กและเยาวชนไทย)

25 มกราคม 2565

เด็กที่เรียนหนังสือเก่งล้วนประสบปัญหาแบบเดียวกันก็คือ ยังไม่ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ - ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11)และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ผมเคยได้มีโอกาสเป็นกรรมการคัดเลือกนักเรียนทุนรัฐบาล กพ. เพื่อไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทในต่างประเทศ โดยกระบวนการหนึ่งที่ทาง กพ. ใช้คัดเลือกก็คือ “การประเมินความพร้อมทางด้านจิตวิทยา” เพื่อวัดทัศนคติและความพร้อมจองเด็กในด้านต่างๆ โดยวัดออกมาเป็น 9 ด้าน ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมตนเอง การเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบ การมีแรงจูงใจ สัมพันธภาพ ความภูมิใจในตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสุขสงบทางใจ

บรรดา 9 ด้าน ผมสังเกตเห็นว่า เด็กที่เข้าสอบทุกคน (ซึ่งทุกคนเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง) ล้วนมีระดับคะแนนด้าน "ความภูมิใจในตัวเอง" (Self-Esteem) ต่ำกว่าคะแนนด้านอื่นๆ แทบทั้งสิ้น ซึ่งผลที่พบนี้สะท้อนให้เห็นว่า เด็กที่เรียนหนังสือเก่งเหล่านี้ล้วนประสบปัญหาแบบเดียวกันก็คือ ต่อให้เรียนเก่งกว่าคนอื่นๆ จบเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่ก็ยังไม่ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น นี่ไม่ต้องไปดูเลยว่า เด็กที่เรียนไม่เก่งจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำขนาดไหน

ทำไมเด็กไทยถึงมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ?? จริงๆ คงวิเคราะห์ได้หลากหลายสาเหตุและหลายแง่มุมทางด้านจิตวิทยา แต่ในมุมส่วนตัวของผมคิดว่าสาเหตุหลักๆ เกิดจากการเลี้ยงดูจากทางครอบครัวและสภาพแวดล้อม เช่น

1. เนื่องจากการศึกษาคือหน้าที่หลักของเด็กและเยาวชน ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า เด็กที่ไม่ภูมิใจในตัวเองเกิดจากระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ไปเน้นผลลัพธ์ (Outcome) มากกว่าการเรียนรู้ด้านกระบวนการ (Process) การดูที่ผลลัพธ์คือไปดูว่าเด็กจบมาได้เกรด 4 หรือไม่ ถ้าได้ 4 แล้วได้ร้อยเต็มหรือเปล่า โรงเรียนเกือบทุกแห่งใช้ Outcome นี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในการประชาสัมพันธ์โรงเรียนเช่น ติดป้ายประกาศเชิดชูเด็กที่เรียนดี การประกาศว่าเด็กเหล่านั้นสอบติดที่ไหนบ้าง ได้รับรางวัลอะไรบ้าง ในขณะที่โรงเรียนกลับละเลยเด็กที่เรียนได้เกรดไม่ดี เรียนไม่เก่ง และเลือกทิ้งเขาไว้เป็นเพียงเด็กหลังห้อง กระบวนการแบบนี้เป็นการทำร้ายทั้งเด็กเรียนเก่งและเด็กไม่เก่ง เด็กเก่งที่คนเทิดทูนความเก่งมาแต่ก่อนจะเกิดอาการรับไม่ได้ถ้าวันหนึ่งเกิดผิดพลาด เกรดตก และไม่ได้รับการเทิดทูนเหมือนแต่ก่อน ในขณะที่เด็กไม่เก่งเองก็ไม่ได้รับการสนใจก็ยิ่งไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไปใหญ่เพราะเขาเติบโตมาโดยไม่เคยได้รับการยกย่องเลยเพราะสิ่งที่เขาเก่งมันไม่ได้อยู่ในผลลัพธ์ (Outcome) ที่ระบบการศึกษาหรือสังคมวางกรอบไว้

2. เด็กที่เติบโตด้วยสังคมออนไลน์น่าจะมีโอกาสสูงกว่าที่จะเป็นเด็กที่ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง โลกออนไลน์เป็นเพียง "โลกเสมือนจริง" ที่คนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่จำกัด โดยมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิด "การเปรียบเทียบ" ได้ง่าย เช่น เพื่อนเก่งกว่า รวยกว่า เพื่อนไปเที่ยวเมืองนอก ทำไมเราไม่ได้ไป เพื่อนคนนี้บ้านใหญ่ในขณะที่บ้านของเราเล็กนิดเดียว เพื่อนคนนี้ทำงานก้าวหน้าและทำไมเราถึงยังไม่ก้าวหน้า แต่จริงๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ถูก Post แสดงออกมาในโลก Social Media เหล่านั้นล้วนถูกเลือกมาจากเรื่องดีๆ แทบทั้งสิ้น เรื่องไม่ดีคนเขาไม่เอามา Post กัน เช่น วันนี้ลูกดื้อ วันนี้ทะเลาะกับสามีมา วันนี้เครียดและเหนื่อยมาก วันนี้หน้าโทรมมาก เป็นต้น ข้อนี้เชื่อมกับข้อแรกก็คือ พอไปเห็น Outcome ของคนอื่นที่ออกมาดีแล้วก็ไปเปรียบเทียบกับเขาพอมีไม่เท่าก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ แต่จริงๆ ถ้าดูที่กระบวนการเราอาจจะเห็นว่าจริงๆ แล้วการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้นของเขากลับต้องแลกด้วยอะไรบ้าง ทั้งนี้ งานวิจัยของ Charoensulmongkol (2018) เองยังได้ยืนยันความเชื่อดังกล่าวจากการสำรวจวัยรุ่นไทยจำนวน 250 คนและนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธี Partial Least Square พบว่า เด็กวัยรุ่นที่มีการเล่น Social Media อย่างเข้มข้นจะมีแนวโน้มที่จะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนในสังคม (Social Comparison) มากขึ้น และจะมีระดับของความอิจฉาริษยา (Envy) สูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ค่อยเล่น Social Media ยิ่งถ้ามีปัจจัยที่สร้างการแข่งขันกันระหว่างเพื่อนในกลุ่ม (Competition among Peer Group) จะยิ่งเสริมสร้างให้ระดับของความอิจฉานั้นเพิ่มทวีขึ้น

3. เด็กที่ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง อาจเกิดจากการเลี้ยงดูของ "พ่อแม่ที่ไม่มีความภูมิใจในตัวเองเช่นกัน" พ่อแม่ที่ไม่มีความภูมิใจในตัวเองจะเลี้ยงดูลูกแบบไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำตามความฝันของเด็ก (Passion) แต่จะพยายามให้เด็กได้ทำตามความฝันของพ่อแม่ พ่อแม่เหล่าจะมีปมด้อยว่าถ้าเราไม่มีอะไร เราก็จะชดเชยให้ลูกเรามีสิ่งเหล่านั้น กลัวลูกจะขาดเหมือนตัวเอง และจะสนองความต้องการของตัวเองโดยการยัดเยียดให้ลูกต้องเรียนไปซะทุกอย่าง เก่งไปทุกเรื่อง เช่น ดนตรี เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน กีฬา เรียนกันให้ครบ กลัวลูกจะโง่ กลัวลูกจะไม่เก่งเหมือนลูกคนอื่น พอลูกทำไม่ได้ก็มักใช้รูปแบบ "การด่าทอมากกว่าการชื่นชม" สุดท้ายลูกก็ต้องอดทนทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบไปเพื่อตอบสนองความต้องการและความมั่นใจต่ำของคนเป็นพ่อและแม่

นอกจากนั้นพ่อแม่เหล่านั้นจะเข้าใจผิดว่า "ถ้าลูกพลาด เช่นสอบตก แข่งกีฬาแล้วแพ้ หรือถูกเพื่อนล้อ ลูกจะขาดความมั่นใจ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด การเลี้ยงลูกแบบไม่ให้ประสบความผิดหวังเลยต่างหากที่เป็นการทำลายความภูมิใจของลูก ข้อนี้เชื่อมกับข้อสองอีกทีก็คือ พอพ่อแม่ (ที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเป็นทุนเดิม) ไปรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ว่าลูกบ้านโน้นเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ก็เกิดความไม่มั่นใจในตัวเองตามมา และไปกดดันลูกตัวเองว่าต้องเป็นแบบเขา งานศึกษาจาก Charoensukmongkol (2018) ยังพบจากแบบจำลองว่า เด็กวัยรุ่นที่มี "พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น" ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ไปเพิ่มระดับความขี้อิจฉาริษยาให้กับลูกของตนมากขึ้น (จากการเล่น Social Media) ด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดของ Plumwongroj and Pholphirul (2021) ที่ใช้ข้อมูลของเด็กวัยรุ่นไทยจำนวน 1,648 คน มาเพื่อทำการศึกษาทางเศรษฐมิติโดยพบว่า การที่วัยรุ่นได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง (Parental Support) เช่นการช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันในครอบครัว หรือการใช้เวลาด้วยกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มความภาคภูมิใจของเด็กวัยรุ่นไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ทั้งนี้ อย่าว่าแต่เด็กเลยคน ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจมีความภูมิใจในตัวเองต่ำด้วยเช่นกัน ดูได้จากการที่ บางคนเลือกจะ post selfie หน้าตัวเองใน Facebook บ่อยๆ และรอดูว่าเมื่อไรจะมีคนมาชมว่าสวยว่าหล่อ บางคนก็ชอบแสดงความเก่งในการทำงานของตัวเองใน Facebook บางคนก็เลือกบริโภคสินค้าที่มีราคา (เช่นรถ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า) เพราะต้องการให้คนอื่นยอมรับกลบเกลื่อนความมั่นใจในตัวเองต่ำของตัวเอง และหลายคนมากจะแสดงออกมาว่าตัวเองเป็นคนมีความมั่นใจจากการพูดเสียงดังและเถียงเกือบทุกเรื่อง บางคนชอบดูถูกคนอื่น (แต่จริงๆ เขากำลังดูถูกตัวเองอยู่) และคนจำนวนมากจะโมโหกับเรื่องไปเป็นเรื่องเพราะคิดว่าคนนั้นคนนี้มาว่าหรือนินทาเรา ซึ่งประเด็นนี้ตรงกับงานวิจัยอีกชิ้นของ Charoensukmongkol ที่ได้ศึกษาทัศนคติในด้านลบที่อาจสัมพันธ์กับการชื่นชอบการเซลฟี่ในกลุ่มวัยรุ่นโดยภาพรวมแล้วผลจากข้อมูลทางสถิติที่เก็บจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาในกรุงเทพมหานครพบว่าคนที่มีความนิยมชมชอบการถ่ายเซลฟี่เป็นชีวิตจิตใจนั้นมีการแสดงออกถึง ทัศนคติในด้านลบสี่ประการ ซึ่งได้แก่ 1) ความหลงตัวเอง, 2) การชอบเรียกร้องความสนใจ, 3) การคิดถึงแต่ตัวเอง และ 4) ความรู้สึกเหงาเดียวดาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นบ่อเกิดของคนที่จะมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำทั้งสิ้นแต่แท้จริงแล้ว

1. คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต้องเคยพลาดอะไรในชีวิตมาก่อนบ้าง แต่เข้าใจ ทำใจ และไปต่อจนประสบผลสำเร็จ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกได้แพ้และผิดหวังบ้าง มันเป็นกระบวนการของการพัฒนา ความไม่สมบูรณ์แบบคือเสน่ห์ของความเป็นธรรมชาติ ของที่เกิดจากธรรมชาติย่อมอร่อยกว่าของที่เกิดจากการปรุงแต่ง

2. คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่ควรทำสิ่งที่ชอบอย่างเดียวให้เก่ง (นอกเหนือจากการเรียนหนังสือตามปกติ) และเป็น Somebody ในวงการนั้นๆ จนได้รับการยอมรับในสิ่งที่เขาทำ และแน่นอนว่าพ่อแม่ควรเป็นบุคคลแรกที่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น

การไม่มีความภูมิใจในตัวเองเป็นปัญหามากในระยะยาว เพราะมันทำให้คนเก่งกลายเป็นคนไม่เก่ง ในขณะที่คนไม่เก่งก็ยิ่งคิดว่าเราไม่เก่ง ในการสร้างความภูมิใจ พ่อแม่ต้องดูที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ (ให้ความสำคัญกับความพยายามของลูกมากกว่าผลแพ้ชนะที่ออกมา) โดยงานศึกษาของ Plumwongrot and Pholphirul (2021) ที่พบว่า การดำเนินการตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการมองโลกในแง่บวก การเดินตามทางสายกลาง และการเห็นแก่ผู้อื่น ก็จะช่วยในเรื่องของการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กและเยาวชนของไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่ลูกต้องพบปะความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าเอาตัวเอง (และลูกตัวเอง) ไปเปรียบกับคนอื่น ให้ลูกได้เลือกเดินในสายที่ตัวเองชอบและมี Passion ถึงแม้ว่าทางนั้นอาจจะดูไม่เข้าท่าในมุมมองของเราก็ตาม

อ้างอิงCharoensukmongkol, P. (2018) “The Impact of Social Media on Social Comparison and Envy in Teenagers: The Moderating Role of the Parent Comparing Children and In-group Competition among Friends”, Journal of Child and Family Studies 27, 69–79.

Charoensukmongkol, P. (2016) “Exploring Personal Characteristics Associated with Selfie Liking”, Cyberpsychology: Journal of Psychosocial Research on Cyberspace, 10(2), Article 7, retrieved from https://cyberpsychology.eu/article/view/6180/5529

Plumwongrot, Phaphon and Pholphirul, Piriya (2021) “Participating in Religious Activities and Adolescents’ Self-Esteem: Empirical Evidence from Buddhist Adolescents in Thailand”, International Journal of Adolescence and Youth, 26(1): 185-200.