posttoday

เรื่องท้าทายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินตามกรอบของทางการ

10 มกราคม 2565

มาตรการช่วยให้อยู่รอดของลูกหนี้วิกฤติ ไม่ใช่การช่วยแบบเหมาเข่ง เหตุเพราะเขากู้เกินศักยภาพไปมาก จะไปเอาเงินหลวงมาช่วยมันคงไม่ได้

คอลัมน์ เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ ตอนที่ 2/2565

ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนคนเดินถนนและคนค้าขายตัวเล็กตัวน้อยในระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจไทยมันเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้น และมันก็เกิดจากการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันยำของทุกฝ่ายมาโดยตลอด มันคงไม่ใช่ความพลาดหลงของใครคนใดคนหนึ่ง จนเป็นเหตุให้ปัญหาดังกล่าวใหญ่โตขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น

(1) ภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตเท่าที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะทำได้ดีกว่านี้ (เติบโตเพียง 3-4% ทั้งที่ต้องการ 5% ขึ้นไป) แต่มันก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำงานได้ไม่ดี ไม่เต็มศักยภาพ เช่น สงครามการค้า การย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศคู่แข่งของไทย เศรษฐกิจที่โตต่ำ มันส่งผลทำให้รายได้มันต่ำตามไปด้วย คนที่อยู่ในภาคราชการ ภาคเอกชนที่กินเงินเดือนอาจจะยังไม่พบกับปัญหารายได้ในแต่ละเดือนไม่หายไปหรือน้อยลง แต่คนที่กินรายได้รายวัน ต่างได้รับผลกระทบหากรายได้ที่ไม่โตแล้วมันหายไปเฉย ๆ มากพอควร เรื่องนี้มันเป็นมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว

(2) การเข้ามาแพร่ระบาดของไวรัสตลอด 2 ปีที่ผ่านมามันทำให้ความสามารถในการลดยอดหนี้ของคนรายได้น้อยถึงปานกลางทำได้ยาก ถึงยากมาก ท่านเหล่านั้นต่างต้องเข้ามาตรการให้ความช่วยเหลือในเรื่องชะลอการชำระหนี้ที่ถึงกำหนด ต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้การชำระในช่วงแรกของการแพร่ระบาดแบบไม่จ่ายเงินต้นไม่จ่ายดอกเบี้ย จ่ายแต่ดอกเบี้ยเลี้ยงเงินต้นไปก่อน หรือจ่ายได้แค่ดอกเบี้ยบางส่วนที่เหลือแขวนเอาไว้คืนวันหลัง ลูกหนี้ไม่ใช่ไม่อยากลด แต่มันลดไม่ได้ เพราะมันไม่มีกำไรมาก ไม่มีรายได้เพิ่มเพื่อเอามาลดยอดหนี้ การเอาตัวรอดไปในแต่ละเดือนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทุกคนก็รู้ คนที่ชอบตำหนิทางการก็รู้ว่า ในยามเศรษฐกิจขาลง การเร่งลดหนี้มันทำได้ยากหรือมันเป็นไปไม่ได้เลย

(3) เงื่อนไข "กติกา มารยาท ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน มันเพิ่งจะถูกกระชับแบบเข้มข้นเมื่อไม่นานมานี้ การเพิ่มความเข้มข้นช่วงที่ผ่านมามันอาจแก้ไขปัญหาได้บางเรื่อง เช่น ออกมาตรการ LTV สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ออกมาตรการคุมสินเชื่อส่วนบุคคล พยายามจะออกมาตรการเรื่อง Residual income ขณะเดียวกันก็เพิ่งจะออกมาตรการการให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ มาตรการกฎกติกา พฤติกรรมในการเสนอขายหรือการให้บริการทางการเงิน ขณะที่มาตรการรวมหนี้ ก็ไม่ชัดเจนว่าผลงานเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ตัวอย่างชัด ๆ ที่เห็นเรื่องดอกเตอร์หนี้ธุรกิจ ก็ไม่มีการแถลงออกมาว่าได้กี่ราย กี่ล้านบาทกันแน่ การออกมาตรการฟ้าส้มหรือมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนก็เพิ่งจะขจัดความกังวลจากการปฏิบัติของสถาบันการเงินของรัฐได้จบและจะเร่งเครื่องตั้งแต่มกราคม 2565 เป็นต้นไป หนำซ้ำในปีที่อ่อนแอสุดกลับต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่เข้มสุด ถ้าสถาบันการเงินต้องกินความเสี่ยงเพิ่มแต่รายได้ลด หนี้เสียเพิ่ม การเอื้อมมือไปช่วยผู้คนที่เป็นลูกค้ามันก็ต้องแบบคัดเลือกคัดสรรอย่างระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้นคำมั่นสัญญาว่าจะยังไม่เร่งรัดการกันสำรองหนี้เสียก็จะมลายหายไปในสายลมในเวลาต่อมาเมื่อท่านที่บอกว่าไม่เร่งเกษียณอายุ และท่านใหม่บอกว่าคำมั่นโดยวาจาคนก่อนไม่มีอยู่ในเอกสารเป็นหนังสือ  เป็นต้น

กลับมาที่หลักการของการออกนโยายแบบมีคำสั่งประกบการแก้ไขหนี้สินของข้าราชการ ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยก็คือ

1. ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ใช่การแก้ไขเฉพาะการมีหนี้สิน

2. ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ต้องชำระหนี้แบบไม่ทำร้าย ทำลายตัวเอง ต้องชำระหนี้ได้ตามศักภาพและเงื่อนไขที่สมเหตุผล ไม่ใช่บังคับตามสัญญาอย่างเดียว

3. เจ้าหนี้จะต้องได้รับการชำระหนี้ตามสมควรแก่เหตุและปัจจัย ไม่ใช่การอ้างและบังคับเอาแต่เพียงฝ่ายเดียว การใช้เงื่อนไขทางกฎหมายก็ต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่พึงดูแลมนุษย์ตามสมควร โดยเฉพาะการติดตามทวงถาม การให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระเป็นต้น

4. บทบาทของนายจ้างคนที่เป็นหนี้จะมีมากขึ้นเพื่อให้คนที่เป็นลูกจ้างอยู่ได้ การหักชำระเงินเดือนนำส่งเจ้าหนี้ (หักหน้าซองเงินเดือน) ต้องทำได้บนฐานของการคิดว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ใช่เจ้าหนี้ส่งอะไรมาให้หัก นายจ้างก็ยอมมันไปทุกเรื่อง อะไรทำได้หรือไม่ได้ อะไรเป็นเหตุเป็นผลต้องชัดเจนครับ ตัวอย่างเช่น การช่วยหักรายได้ในแต่ละเดือนนำส่งเจ้าหนี้ในสินเชื่อสวัสดิการก็ต้องตามไปดูด้วยว่าเงินที่เหลืออย่างน้อย 30% หรืออย่างน้อย 9,000 บาทคิดเป็นวันละ 300 บาททำได้หรือไม่

กรอบความคิดหลักที่ต้องทำให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ มาตรการสนับสนุนให้เกิดการ "ยุบยอดหนี้" ของลูกหนี้ด้วยสินทรัพย์ทางการเงินหรือเงินออมที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบันและการเอาผลประโยชน์ในอนาคตมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบัน มาตรการจัดความสมดุลดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่สร้างปัญหาไปเอาประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินไป เพราะถ้าดอกเบี้ยเงินฝากสูงแต่ดอกเบี้ยกู้สูง คนกู้คือคนที่มาจ่ายดอกเบี้ยสูงโดยไม่รู้ตัว ดังที่เราเห็นในปัญหาของการให้กู้ยืมของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่กำกับสมาชิก มาตรการเวลาลูกหนี้เอาเงินมาชำระหนี้ต้องเอาเข้าเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย แล้วจึงจบด้วยค่าธรรมเนียม หนี้มันถึงจะลดลงได้ในกรณีของหนี้ กยศ. มาตรการไม่ขายของที่ไม่จำเป็น เช่น การประกันชีวิต การประกันหนี้ ถ้าเป็นหนี้สวัสดิการที่นายจ้างหักรายได้นำส่งให้เจ้าหนี้ มาตรการไม่เรียกผู้ค้ำถ้ามันไม่มีเหตุผล สุดท้ายคือมาตรการช่วยให้อยู่รอดของลูกหนี้วิกฤติ ไม่ใช่การช่วยแบบเหมาเข่ง เหตุเพราะเขากู้เกินศักยภาพไปมาก จะไปเอาเงินหลวงมาช่วยมันคงไม่ได้

มาตรการที่ออกมามันมีคำสั่งกำกับเป็นแนวทางครับ ไม่ใช่ลอย ๆ และถ้ากลไกมันไม่ผิดเพี้ยนการลดลงของปัญหาคงจะเกิดขึ้น สุดท้ายมันจะไม่จบเร็ว มันต้องใช้เวลา มันคือวิ่งมาราธอนครับ แต่มันคือวิ่งไปข้างหน้า การยืนอยู่ข้างสนามเอาแต่บ่นว่า ไม่มีประโยชน์ ทำไม่มีทางได้ เรื่องนี้แก้ไม่มีทางได้ แล้วก็เอาไปพันกันกับการก่อหนี้รัฐบาล มันน่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ติแล้วต้องบอกทางแก้ด้วย จึงจะถือว่า ใช้ปัญญา ติด้วยใจ ที่เป็นกัลยาณมิตรครับ