posttoday

แนวคิด ESG ตลอดสายการผลิต สู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ตอนที่ 1/2

08 มกราคม 2565

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นและแบรนด์เนม มูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นอุตสาหกรรมต้นๆ ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นและแบรนด์เนมนับเป็นอุตสาหกรรมต้นๆ ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในหลากหลายมิติ และตลอดสายการผลิตนับตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิตและการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ในปี 2019 ด้วยมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นแตะ 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นจึงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของ GDP โลก และมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ถึง 60-75 ล้านคนทั่วโลก โดย Goldman Sachs กล่าวถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไว้ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหามลพิษทางน้ำ/ทางอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) การจัดการของเสียจากการผลิตกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3) แรงงานกับห่วงโซ่อุปทาน

ปัญหามลพิษทางน้ำ/ทางอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากการที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่วนใหญ่นั้นมักจะตั้งอยู่ในประเทศหรือภูมิภาคที่มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มงวดมากนัก จึงนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จากมลพิษทางน้ำ/ทางอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในทุกช่วงของกระบวนการผลิต ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Goldman Sachs ชี้ให้เห็นว่า มีผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลกถึง 7 ใน 10 ราย ซึ่งคิดเป็น 56% ของปริมาณการผลิตรวมที่ได้คะแนน Environmental Performance Index (EPI) ต่ำกว่าเฉลี่ย ทั้งผู้ส่งออกในจีนที่คิดเป็น 31% ของปริมาณการส่งออกรวม รวมไปถึงในบังกลาเทศ (6%) เวียดนาม (6%) และอินเดีย (5%) ในขณะที่ การผลิตฝ้ายซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นใยและวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตเสื้อผ้าก็มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่มาก โดยมากถึง 69% ของความต้องการรวมทั้งอุตสาหกรรมที่ 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมักจะใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในปริมาณที่สูงกว่าการเพาะปลูกพืชอื่นๆ โดยทุ่งฝ้ายก็ใช้ยาฆ่าแมลงมากกว่า 6% แม้จะมีขนาดพื้นที่อยู่เพียง 2.5% ของที่ดินทำกินทั่วโลก และนำไปสู่การปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมนี้ถึงราว 20% ของมลพิษทางน้ำจากอุตสาหกรรมทั่วโลก ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นก็มีการปล่อยก๊าซสูงถึง 7-10% ของการปล่อยก๊าซรวมทั่วโลก ซึ่งมากกว่าบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม (GDP Contribution)

การจัดการของเสียจากการผลิตกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัจจุบันของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่นกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เมื่อวัตถุดิบในการผลิตหลายอย่างที่ไม่ได้ใช้งานถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบโดยไม่มีการรีไซเคิล รวมทั้งปริมาณของเสียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าหลายอย่างไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และผู้ผลิตไม่ได้รับแรงจูงใจในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้ตามกระแสที่สุดอย่าง ‘Fast Fashion’ ที่ทำให้มีความต้องการใช้สิ่งทอ และวัตถุดิบต่างๆ มากขึ้น จนเกิดขยะของเสียเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ Global Fashion Agenda ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความยั่งยืนมากขึ้น ประมาณการว่า ในปี 2015 อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างขยะมากถึง 92 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 62% เป็น 148 ล้านตันภายในปี 2030 โดยในสหรัฐฯ มีเพียง 15% จากปริมาณขยะในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด 17 ล้านตันเท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล ส่วนอีก 85% ที่เหลือถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ หรือเข้าสู่กระบวนการเผาขยะในเตาเผา นอกจากนี้ ประมาณ 35% ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเสื้อผ้านั้น จะกลายสภาพเป็นขยะก่อนที่สินค้าจะถูกนำไปวางจำหน่ายด้วยซ้ำ นอกจากนี้ Fast Fashion ยังทำให้ความรวดเร็วในการผลิตสินค้าหรือ Lead time นับเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าให้ความสำคัญสูงสุด และใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ เนื่องจากแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ในตลาดต่างต้องการลดระยะของ Lead time นี้ลงเหลือเพียง 2-5 สัปดาห์ และทำให้สามารถเปลี่ยน Collection ของเสื้อผ้าได้ถึง 24 ครั้งต่อปีเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่แนวทางการผลิตเสื้อผ้าเช่นนี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม “ใช้แล้วทิ้ง” มากขึ้น

จากรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เสื้อผ้าจะสวมใส่ประมาณ 160 ครั้งก่อนที่จะถูกทิ้ง แต่ในสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 40 ครั้ง ยุโรป 100 ครั้ง และจีน 60 ครั้งเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าธุรกิจเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion เป็นตัวเร่งให้ขั้นตอนการผลิตต้องมีการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด บวกกับผลิตสินค้าให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้สินค้ามีราคาถูก และเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย โดยราคาเสื้อผ้าเฉลี่ยนั้นลดลงถึง 18.6% ในช่วงปี 2005 และ 2019 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นว่าแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกหลายรายหันมาใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่แน่ชัดเปิดเผยต่อผู้บริโภคและนักลงทุนก็ตาม ขณะที่การเติบโตของตลาดเสื้อผ้ามือสองนับเป็นความท้าทายต่อธุรกิจนี้ ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำต่างๆ เริ่มขยายบางส่วนของธุรกิจสู่โมเดลการผลิตแบบหมุนเวียนมากขึ้น

แรงงานกับห่วงโซ่อุปทาน

ด้วยการผลิตในปริมาณมากและต้องการให้ต้นทุนต่ำทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีความเสี่ยงในการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ ซึ่งความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งผลิต โดยนอกจากประเด็นด้านค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการทางสังคมในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชนต่างยังกดดันให้บริษัทแบรนด์เสื้อผ้าทั้งหลายมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Goldman Sachs พบว่า แรงงานในแหล่งผลิตเสื้อผ้าหลักของโลกอย่างจีน บังกลาเทศ เวียดนามและอินเดีย ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดในปี 2018 มักมีความปลอดภัยในชีวิตจากการทำงานในระดับต่ำ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตสูงที่สุด

ในแง่ของบทบาททางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการจ้างแรงงานถึง 60 ล้านคนในประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งแรงงานในประเทศเหล่านี้มักมีความสามารถในการเลือกงานต่ำ ส่งผลให้ได้รับรายได้น้อย แต่ต้องทำงานหนักภายใต้เงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะยิ่งเห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยแม้ว่าจะมีการสร้างงานในประเทศรายได้ต่ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจ้างแรงงานผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ก็ยังเผชิญกับภาวะยากจนอยู่ สอดคล้องกับที่องค์กรรณรงค์สิทธิแรงงาน Clean Clothes Campaign รายงานว่า แรงงานในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าสำคัญต่างได้รับค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (Living wage) ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในบังกลาเทศอยู่ที่เพียง 19% ของ Living wage เท่านั้น ขณะที่อินเดียและจีนอยู่ที่ 26% และ 46% ตามลำดับ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในจีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8-10% จนทำให้แรงงานในจีนถือว่าได้รับค่าจ้างรายเดือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกันในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าต้นทุนต่ำ

สิ่งที่ตามมาคือ บริษัทในจีนจึงเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงกว่าเดิม ซึ่งเราจะเห็นได้จากธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาที่มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังกัมพูชาและเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความต้องการซื้อสินค้าที่มีต้นทุนต่ำยังทำให้เกิดการบังคับใช้แรงงาน และปัญหาแรงงานเด็กตามมาด้วย โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่า มีแรงงานเด็กที่ถูกบังคับใช้แรงงานสูงถึงราว 170 ล้านคน และเกิดเป็นประเด็นระหว่างประเทศหลังสหรัฐฯ ประณามรัฐบาลจีนในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องการบังคับใช้แรงงานในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตเส้นใยฝ้ายในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน

โปรดติดตามตอน 2