posttoday

จับตามองแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟด

11 ตุลาคม 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.40-34.20 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือเงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟดที่จะส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะถัดไป

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) Money… week โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.40-34.20 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือเงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟดที่จะส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะถัดไป ภายหลังจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกันยายนต่ำกว่าคาดไปมาก แต่อัตราการว่างงานลดลงและบรรลุเป้าหมายของเฟด ณ สิ้นปีแล้ว

ด้านเอเชีย จีนจะเปิดเผยตัวเลขส่งออกและนำเข้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของประเทศอื่น รวมทั้งไทยด้วย ในขณะที่การกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าการส่งออกและนำเข้าของจีนจะชะลอตัวลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะมีการประชุมนโยบายการเงิน โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75%

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม 2564 เงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในช่วงแข็งค่า แม้ในปลายสัปดาห์ความกังวลต่อความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ จะลดลง เนื่องจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติขยายกรอบหนี้สาธารณะระยะสั้นอีก 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ในขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐส่งสัญญาณฟื้นตัวน้อยกว่าคาด สะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นเพียง 1.94 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5 แสนตำแหน่ง และชะลอลงจากเดือนสิงหาคมที่ 2.35 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานในเดือนกันยายนอยู่ที่ 4.8% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าคาดไปมาก รวมทั้งบรรลุคาดการณ์ของเฟดที่ 4.8% ณ สิ้นปีนี้แล้ว โดยพัฒนาการในตลาดแรงงานนี้จะส่งผลต่อความเร่งในการลดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดในระยะถัดไป ด้านโควิด-19 เมอร์ค บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐฯ เตรียมขออนุมัติยารักษาโควิดที่ระบุว่ามีสามารถช่วยลดการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้ 50%

ด้านยุโรป อีซีบีวางแผนที่จะศึกษามาตรการซื้อสินทรัพย์ฉบับใหม่ ภายหลังจาก PEPP จบลงในปีหน้า โดยมาตรการซื้อสินทรัพย์ใหม่นี้อาจทดแทนทั้ง PEPP และ APP ซึ่งเป็นมาตรการซื้อสินทรัพย์ปกติของอีซีบีด้วย อย่างไรก็ตาม อีซีบียังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการ ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนกันยายนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ที่ 3.4%YoY

ด้านเอเชีย ความเสี่ยงภาคอสังหาริมทัพย์จีนพุ่งสูงขึ้น หลังจากแฟนตาเซีย บริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนผิดนัดชำระตราสารหนี้ แม้ก่อนหน้านี้แฟนตาเซียจะออกมากล่าวว่ามีสภาพคล่องเพียงพอ ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐส่งทหารหน่วยปฎิบัติการพิเศษและทหารเรือไปปฏิบัติการในไต้หวันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หลังจากที่จีนส่งเครื่องบินรบมากกว่า 150 ไปที่ไต้หวันในวันชาติของจีน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังกดดันจีนด้วยข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่จีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้อีกด้วย ด้านญี่ปุ่น คิชิดะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยจะจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ คิชิดะแนวโน้มจะดำเนินรอยตามอาเบะโนมิกส์ แต่จะให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และอาจมีการเก็บภาษีจากเงินลงทุนด้วย

ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายนจะฟื้นตัว เงินเฟ้อพุ่งขึ้นในเดือนกันยายน เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟของรัฐ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์ โดยกระทรวงพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เหลือ 1.00%YoY จาก 1.20%YoY ด้าน สบน. วางแผนออกตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ 2022 สำหรับในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 สบน. จะออกตราสารหนี้ 2.72 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับเอสแอนด์พีคงความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB ด้วยมุมมองความน่าเชื่อถือของอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 1.1% ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะเติบโตราว 4% แต่ยังเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญโดยเฉพาะแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในด้านหนี้ที่สูงขึ้น การฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม และการว่างงานระยะยาวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.85 ในวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ยังคงปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 4 เดือนที่บริเวณ 1.60% โดยปัจจัยกดดันมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาดีกว่าคาดการณ์ ทั้งตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ โดยไอเอสเอ็มในเดือนกันยายนอยู่ที่ 61.9 ดีกว่าคาดการณ์ที่ 61.7 และเดือนก่อนหน้าที่ 59.9 เป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมีตัวเลขโดยเอดีบีเปิดเผยว่าการจ้างงานเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 5.68 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.30 แสนตำแหน่ง และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 326,000 ตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 348,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนกันยายนพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.68%YoY สูงกว่าคาดการณ์ที่ 0.52%YoY และเดือนก่อนหน้าที่ -0.02%YoY เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟของรัฐและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน โดยมูลค่าสุทธิประมาณ 1,451 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 106 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,549 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 8 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.60% 0.78% 1.11% 1.59% และ 1.94% ตามลำดับ