posttoday

เศรษฐกิจไทยควรจะกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อหรือไม่ ?

21 กันยายน 2564

ขีดความสามารถชำระหนี้ลดลงจนครัวเรือนจำนวนมากอาจจะชำระหนี้ไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติหนี้ภาคครัวเรือน

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ขนาดของมาตรการช่วยเหลือทางการคลังและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลกอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 (มาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดไปจนถึงมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ปธน. ไบเดน รวมคิดเป็นมูลค่าสูงขึ้นกว่า 6.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 31.4% ของ GDP) ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงได้ถึง 6-8% ผนวกเข้ากับการใช้มาตรการทางการเงินอย่างผ่อนคลายในรูปแบบของ QE มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คราววิกฤตทางการเงินในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008 อัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก กดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก จนทำให้เกิดข้อกังวลและวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุปสงค์จากมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูขนาดใหญ่จะเป็นแรงผลักให้เกิดอัตราเงินเฟ้อขึ้น (อย่างก้าวกระโดด) ส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และอาจก่อตัวเป็นวิกฤตใหม่ได้ในอนาคต ความเห็นดังกล่าวแตกออกเป็น 2 แนว แนวทางหนึ่งเชื่อว่าคงจะไม่เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาผลของมาตรการ QE ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ อีกทั้งมาตรการทางการคลังที่ใช้ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือ หรือเป็นการชดเชยเสียเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการทางการคลังเป็นความจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในอีกแนวทางหนึ่ง เชื่อว่ามาตรการทางการคลังนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าความจำเป็น ขีดความสามารถทางการคลังของรัฐที่ทำให้สามารถกู้ยืมได้นั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติจากมาตรการทางการเงินที่กดให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (ถ้าอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ถูกกดให้ต่ำในระดับนี้ รัฐอาจจะมีต้นทุนในการกู้ยืมสูง และไม่สามารถจะออกมาตรการทางการคลังได้มากอย่างที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้) สภาพความไม่สมดุลนี้ ส่งผลให้มาตรการทางการคลังซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภค เป็นเหตุให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์อย่างก้าวกระโดด และเชื่อว่าระดับของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว คงจะมีความยากลำบากมากที่จะทำให้เกิดการลดลงของการบริโภคไปสู่ระดับที่เหมาะสม จึงเชื่อว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และถ้าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ก็จะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเดินไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Stagflation คือ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ไปพร้อม ๆ กับการมีอัตราเงินเฟ้อสูง (เป็นสภาวะที่ประชาชนไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย แม้ว่าสินค้าจะผลิตได้และไม่ขาดแคลน แต่เป็นเพราะราคาสินค้าแพงเกินไป) กลุ่มที่เชื่อในแนวทางนี้จึงมองการก่อตัวของสภาวะเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจใหม่ที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบาย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของโลก

สำหรับประเทศไทย ปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ของการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาที่สังคมไทยจะให้ความสนใจเพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากและมีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่ำกว่าระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตามศักยภาพ (Potential GDP) ซึ่งก็หมายความว่าในระบบเศรษฐกิจยังมีกำลังการผลิตเหลือที่ยังไม่ได้ใช้อยู่มาก ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น (จะช้า หรือเร็วคงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง) คงจะไม่ได้มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นมากจนก่อให้เกิดปัญหาค่าครองชีพขึ้นได้ เรียกได้ว่าความเสี่ยงทางด้านอุปสงค์ที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อคงจะมีไม่มากถ้าการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบในรูปแบบของเงินโอน (Money Transfer) จากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริโภคไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไป (มาตรการทางคลังในการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่การระบาดในรอบแรก รวมกับที่จะมีการใช้ในช่วงปีงบประมาณ 2565 คิดเป็นประมาณ 11-12% ของ GDP) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย (เช่นเดียวกับเศรษฐกิจอื่น ๆ) มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นได้จากปัจจัยทางด้านอุปทาน (Cost push inflation) และจากการรับถ่ายโอนเงินเฟ้อ (Inflation Transfer) มาจากระบบเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมีความล่าช้า และเกิดความล้าสมัยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก (การเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงไม่ได้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย) เศรษฐกิจยังคงพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยกว่าและมีการแข่งขันสูง ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (ทั้งจากราคาของปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ของปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก และการรับถ่ายโอนเงินเฟ้อจากระบบเศรษฐกิจอื่น) เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และราคาโภคภัณฑ์ ตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 เป็นต้นมาตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออก จนทำให้เกิดการลดทอนประสิทธิภาพการผลิต หรือการลดลงของผลิตภาพการผลิต (Productivity) จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้เมื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง) การส่งออก และการลงทุน (โดยเฉพาะการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นฟู ซ่อมสร้างเศรษฐกิจในช่วงต่อไปอ่อนกำลังลงได้ เท่ากับว่าความล่าช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการปรับตัวไปสู่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาถัดไปจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญว่าปัญหาค่าครองชีพจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ มากน้อยอย่างไร

นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ไม่เพียงเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ แต่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่ง (การถือครองทรัพย์สิน) ทางด้านการศึกษา ทางด้านเทคโนโลยี หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข เกิดช่องว่างห่างมากขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว K คือ มีบางภาคส่วน บางกลุ่ม หรือบางอุตสาหกรรม จะสามารถฟื้นตัวได้ดีและรวดเร็วกว่า ในขณะที่จะมีอีกบางส่วน บางกลุ่ม บางอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวได้ช้า หรือฟื้นตัวไม่ได้เลย เพราะได้รับผลกระทบที่รุนแรง และการฟื้นตัวจะต้องใช้ทรัพยากร (ลงทุน) การปรับตัวมาก และต้องใช้ระยะเวลานาน การเพิ่มขึ้นของความยากจน (จำนวนคนจน) ระดับและความสามารถในการสร้างรายได้ของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มพูนมากขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน ล้วนแต่เป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเมื่ออัตราเงินเฟ้อ (การเพิ่มขึ้นของราคา) ถูกจุดให้ติดขึ้น มองในแง่นี้ก็คงจะต้องบอกว่า ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจไทยน่าจะมีน้ำหนักไปอยู่ที่ผลกระทบ หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบคงจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีผลกระทบที่กว้างคน (มีคนจำนวนมากขึ้นที่จะได้รับความเดือดร้อนจากระดับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น) และแนวโน้มของความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนนี้จะเป็นปัญหาหนักของระบบเศรษฐกิจไทยที่ทั้งภาครัฐและครัวเรือนจะมีภาระหนี้สูงขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อจะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยต้องขยับสูงขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูง ขีดความสามารถในการชำระหนี้ย่อมลดลงจนครัวเรือนจำนวนมากอาจจะไม่สามารถลองรับภาระการชำระหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกว้างขวางจนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งได้ถ้าไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี ด้วยนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม