posttoday

การอภิปรายไม่ไว้วางใจกับหลักคิดของรัฐบาล

14 กันยายน 2564

ดุเดือดเหลือเกินกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่พึ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าจะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ดุเดือดเหลือเกินกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่พึ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าจะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล แต่ไม่ว่าท่านจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหน ก็คงต้องยอมรับกับ “ความปัง” ในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่เตรียมการอภิปรายอย่างเข้มข้นและจริงจังอย่างที่สุด ชูประเด็นที่ใช้ในการกล่าวหารัฐบาลอย่างชัดเจน เต็มไปด้วยข้อมูล ตัวเลข คลิปเสียง ข้อมูลทางวิชาการ ต่าง ๆ นานา เต็มไปหมด ไม่ได้มีดีแค่ฝีปากและลีลาการพูดเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นในระบบการเมืองแบบรัฐสภา (ซึ่งส่วนฝีปากลีลาเอาจริงๆ ก็คือปังไม่ไหวอีกเช่นกัน มีเล่นสัมผัสคำ เล่นประเด็นทางอารมณ์ให้คนอินและติดตามอยู่เนือง ๆ มี Quote ให้เป็น Viral กันท่วมหน้า Feed ไม่มีเบื่อ)

แน่นอนว่าการคัดค้าน หรือโต้เถียงจากฝ่ายรัฐบาล ที่สำคัญ เช่น ฯพณฯ นายก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นาย อนุทิน ชาญวีรกูล อาจจะยังงง ๆ อยู่บ้าง ทำให้สื่อส่วนใหญ่จับประเด็นได้แต่ “อย่าด้อยค่าวัคซีน” “ไทยจีนเมืองพี่เมืองน้อง” “ยืนยันว่าไม่เคยโกง” และ “ผมสวดมนต์ทุกวัน” ให้คนในโลกออนไลน์ได้ทำ Meme กันสนุกมือ แต่ก็มีผู้ที่เกี่ยวข้องทยอยออกมาช่วยตอบคำถามให้กับประชาชนหายสงสัยกันอยู่เนือง ๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ อย่าปล่อยให้ประชาชนงงนานจนเกินไป

แน่นอนประเด็นที่อภิปรายส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นวิกฤติ COVID-19 กับการจัดการวัคซีนของรัฐบาล แต่ที่สะดุดหูนักเศรษฐศาสตร์อย่างผู้เขียนที่สุดน่าจะเป็นคำพูดของท่านอนุทินที่อธิบายราคาซื้อของวัคซีน Sinovac ตามหลัก Demand-Supply การซื้อปริมาณมากจะต่อราคาได้ถูกลง จนไปถึงลักษณะของตลาดวัคซีนที่ปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ขาย เป็นที่ให้ “เชื่อ” ได้ว่าท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขน่าจะมีองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี เมื่อเริ่มมี “ความเชื่อ” แบบนี้เกิดขึ้นมาในสมอง ผู้เขียนจึงอยากจะชวนผู้อ่านทุกคนมาช่วยกันคิดต่อไปพร้อมกันว่า “เราสามารถมองกระบวนการจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทยให้สอดคล้องกับหลักการตัดสินใจของผู้มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ (Rational Agent) ได้หรือไม่”

Rational Agent เขามีหลักคิดกันอย่างไร? แน่นอนครับมนุษย์เราต่างคนต่างความชอบต่างรสนิยม ไม่มีใครคิดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังนั้นการตัดสินใจของคนแต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน แต่มันต้องมีหลักยึดร่วมกันอะไรสักอย่างที่มันมีเหตุมีผล เรามีวิเคราะห์หลักยึดของรัฐบาลจาก “แผนจัดหาวัคซีนแรก” ของรัฐบาลที่เคยชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบกุมภาพันธ์ 2564 กัน

1. กลัวความเสี่ยง (Risk-averse) อนุมานได้จากแผนการจัดหาวัคซีนดั้งเดิมที่เลือกจะใช้วัคซีน Astrazeneca และ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนแบบ Viral vector และ แบบเชื้อตาย ตามลำดับ ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของท่านนายกและท่านอนุทินในอดีตก็พูดอย่างชัดเจนว่า ท่านไม่อยากเสี่ยงใช้วัคซีนแบบ MRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังมีอายุน้อย ราว ๆ 10-20 ปี ทำให้ไม่มีใคร หรือหลักฐานทางวิชาการระดับโลกอันไหนที่จะหยั่งรู้ผลใน “ระยะยาว” ของเทคโนโลยีนี้ต่อร่างกายคนได้จริง

2. คาดการณ์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน (Adaptive expectation) อนุมานได้จากการรัฐบาลไทยตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่า “ประเทศไทยรับมือกับการระบาดโควิดในรอบแรกได้ดี” ทำให้แผนการจัดหาวัคซีนเน้นไปที่การรอวัคซีน Astrazeneca บนฐานการผลิตของบริษัท Siam Bio-Science ในประเทศไทยจำนวน 61 ล้านโดส ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 (ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน) การสั่ง Sinovac เป็นวัคซีนแก้ขัดเพราะสั่งได้เร็ว และสามารถต่อกรกับโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและแอลฟาได้ดีที่เป็นสายพันธุ์หลัก ณ ช่วงนั้น

3. ให้ความสำคัญปัจจัยราคา (Price factor) อนุมานจากการที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่เข้า COVAX ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเพื่อการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงของนานาประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เราไม่ใช่ประเทศรายได้ต่ำ (แต่ก็ไม่ค่อยมีตังค์) ดังนั้นเราจะต้องจ่ายค่าวัคซีนในราคาที่แพงโดยที่ไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ ซึ่งวัคซีนที่อาจจะได้จัดสรรอย่าง Astrazeneca เราก็จะมีของเราเอง “เต็มแขน” อยู่แล้ว (ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน)

หลักสามข้อนี้ถือเป็นหลักของ Rational Agent ได้ทั้งสิ้นครับ ไม่ผิดเลยสักข้อเดียว (ถึงแม้ว่าคนที่มีเหตุมีผลแบบเต็มขั้นจริง ๆ จะไม่แค่คาดว่าอนาคตจะมีสถานการณ์เช่นเดียวกับปัจจุบัน แต่จะใช้ข้อมูลในปัจจุบันคาดว่ามันน่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต) แต่แล้วทำไมวิกฤติโควิดและสถานการณ์การฉีดวัคซีนของประเทศไทยมันถึงมาจุดที่ย่อยยับได้อย่างทุกวันนี้ได้? จุดพลิกผันอยู่การจัดส่งของ Astrazeneca ที่ผลิตในไทยไม่มาตามแผน (หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะมันเป็นแผนลวงโลกที่ไม่เคยมีอยู่จริงตามที่ ส.ส. วิโรจน์ พรรคก้าวไกลได้กล่าวหาเอาไว้จริงๆ ก็ต้องรอความกระจ่างต่อไป) ประเด็นสำคัญคือ ถ้ารัฐบาลจะยืนยันรอวัคซีนที่ผลิตในไทยเองในไตรมาสที่ 3 โดยไม่สนใจที่จะสั่งวัคซีนอื่นมาสำรอง และไม่สนใจที่จะเข้าร่วม COVAX นั่นแปลว่า รัฐบาลจะต้องมองการจัดส่งวัคซีน Astrazeneca นี้เป็นเหตุการณ์ที่ไร้ซึ่งความเสี่ยงใด ๆ (Deterministic) อารมณ์แบบมาแน่นอนดั่งพระอาทิตย์ยามเช้าโผล่ขึ้นมาทางทิศตะวันออก แต่จากการประมวลข่าวจากหน่วยงานราชการและคนฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ทยอยหลุดออกมาเรื่อย ๆในประชาชนอย่างผู้เขียนเห็น และฝ่ายค้านเอามาสรุปในการอภิปรายครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ไม่ได้มีการผูกพันทางสัญญาอะไรที่ตรงตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ประกาศไว้แต่แรกแต่อย่างใด เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็กลายเป็นการแทงม้าตัวเดียวอย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหามาตลอด แล้วอะไรคือหลักกลัวความเสี่ยง งงไหมครับ

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อ Astrazeneca มาไม่ทัน รัฐก็ปิ๊งไอเดียการฉีดวัคซีนไขว้ Mix and Match ซึ่งเอาจริงๆ ทั่วโลกเขาก็มีการลองผสมสูตรวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไม่น้อยครับ แต่ถ้าจะทำก็ต้องยอมรับว่ามันก็คือการเอาประชาชนคนไทยไปเสี่ยงนั่นแหละครับ โดย “หวัง” ว่ามันจะได้มากกว่าเสีย ซึ่งก็แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดหลักกลัวความเสี่ยงแต่อย่างใด ที่เคยพ่นไปก็แค่ลมปากเท่านั้น เอาเป็นว่า ลืมหลักการข้อ 1 ข้างต้นไปครับ

หลักการข้อ 2 ก็พังไปตั้งแต่ตอนที่รู้ตัวว่าสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย แต่ก็ยังคงปักใจสั่ง Sinovac ทั้ง ๆ ที่คนทั้งโลกมองว่า Sinovac ไม่ใช่คำตอบเมื่อเจอกับสายพันธุ์นี้ ไม่รู้ทำไมองค์การอาหารและยาของประเทศเราถึงได้มองสวนทางกับคนทั้งโลกได้ขนาดนั้น ซึ่งถ้ารัฐบาลคาดการณ์จากสถานการณ์และข้อมูลปัจจุบันจริงๆ การตัดสินใจเรื่อง Sinovac ไม่น่าจะเป็นแบบนี้ แล้วยิ่งมารู้ข้อมูลราคาวัคซีน Sinovac ที่ถูกเปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ซึ่งปรากฏว่าแพงกว่าวัคซีนอย่าง Pfizer ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า มันไม่เกี่ยวกับราคาถูกอะไรหรอก แล้วหลักการอะไรทั้งสามข้อข้างต้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องตลกที่ผู้เขียนมโนขึ้นมาเอง เพราะสิ่งที่เราสรุปได้ไม่ใช่ Rational Agent แต่เป็นไม้หลักปักเลน ที่โคลงเคลงหาหลักยึดอะไรไม่ได้ทั้งนั้นครับ