posttoday

จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา

06 กันยายน 2564

สัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสนี้

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.20-33.00 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสนี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าอีซีบีจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นถึงแนวทางการซื้อสินทรัพย์ในระยะถัดไป ภายหลังจากเงินเฟ้อยูโรโซนพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ทำให้สมาชิกอีซีบีหลายท่านแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อและสนับสนุนให้ลดการซื้อสินทรัพย์ ทางด้านธนาคารกลางออสเตรเลียและแคนาดาจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั้งสองแห่งจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ยูโรโซนและญี่ปุ่นจะประกาศจีดีพีในไตรมาสที่ 2 โดยเศรษฐกิจทั้งสองประเทศยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่ประเทศไทยจะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมในวันจันทร์นี้ โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีการเปลี่ยนแปลงน้อย เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงและมาตรการปิดเมือง

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 เงินบาทผันผวนต่อเนื่อง และแข็งค่าสูงสุดที่ 32.15 ก่อนปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทได้แรงหนุนหลักจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง และการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของรัฐบาลไทย ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนกรกฎาคมขาดดุลลดลงและขาดดุลน้อยกว่าตลาดคาด เนื่องจากรายจ่ายจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่ลดลง และรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสนับสนุนดุลบริการ รายได้ และเงินโอน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอจากผลกระทบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และกำลังการผลิตที่ลดลงจากการระบาดในประเทศ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนคือปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่อนคลายการปิดเมือง

ด้านต่างประเทศ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจากสัญญาณไม่รีบลดการซื้อสินทรัพย์และขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยโพเวลเห็นด้วยกับการลดคิวอีภายในปีนี้ แต่ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากพิจารณาว่ายังมีอีกหลายปัจจัยกว่าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ และยังกังวลกับความเสี่ยงในระยะสั้นจากสายพันธุ์เดลต้าที่กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดย Conference Board ลดลงมาต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกและการขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่จะบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะถัดไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทางด้านยุโรป สมาชิกอีซีบีออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการลดขนาดคิวอี เนื่องจากเงินเฟ้อยูโรโซนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ก่อให้เกิดความกังวลและความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซนที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์สะท้อนว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้อาจเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากจีนที่ประกาศจะจัดตั้งตลาดหุ้นปักกิ่งเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.61 ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่ขับเคลื่อนตลาดอยู่ในฝั่งยูโรโซน ซึ่งมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2011 ที่ 3.0%YoY สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2.7%YoY และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 2.2%YoY ประกอบกับความเห็นของสมาชิกอีซีบีที่ส่งสัญญาณการลดขนาดคิวอี ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 bps ในวันที่ตัวเลขดังกล่าวประกาศออกมา ขณะที่ในฝั่งของสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบแถวบริเวณ 1.30% โดยนักลงทุนรอการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราว่างงานสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดที่จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 21-22 กันยายน 2564 ซึ่งหากตัวเลขการจ้างงานภาคการเกษตรออกมาใกล้เคียงกับที่นักลงทุนคาดการณ์แถว 750,000 ราย โอกาสที่เฟดจะส่งสัญญาณเริ่มลดคิวอีในการประชุมเดือนกันยายนและเริ่มลดจริงในเดือนพฤศจิกายนก็จะมีมากขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ โดยปัจจัยหลักมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการผ่อนคลายมาตราการปิดเมือง ทำให้แรงเกร็งกำไรจากความหวังของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดน้อยลง โดยพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง 3-7 ปี ปรับตัวขึ้นมากที่สุด ขณะที่แรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในช่วงต้นสัปดาห์ ก็กลับมาเป็นขาขายในช่วงปลายสัปดาห์พร้อมๆกับการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ ณ วันที่ 3 กันยายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.47% 0.50% 0.56% 0.82% 1.18% และ 1.63% ตามลำดับ

จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 18,576 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 13,464 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,512 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 400 ล้านบาท