posttoday

จับตาตลาดอุปกรณ์ผู้สูงวัย สดใสรับสังคมผู้สูงอายุ

03 กันยายน 2564

คาดการณ์กันว่าในปี 2574 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ไทจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด หรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

บทความโดย...ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ประเทศไทยผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 นี้ หรือมีจำนนประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 20% ของประชากรทั้งหมด โดยคาดการณ์กันว่าในปี 2574 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ไทจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด หรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ การไต่ขึ้นของจำนวนประชากรผูสูงอายุเช่นนี้ ทำให้ตลาดเพื่อคนสูงวัยเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าจับตา โดยเฉพาะตลาดอุปกรณ์ผู้สูงวัยทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัย

ในสิ้นปี 2564 นี้ ตลาดอุปกรณ์ผู้สูงวัยถูกคาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่าจะมีมูลค่าราว 8,000 – 9,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 8 -10% ของตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของไทย และในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ตลาดอุปกรณ์ผู้สูงวัยจะโตได้ปีละ 7.8 ต่อปี โดยปีนี่มีปัจจัยเร่งการเติบโต ก็คือสถานการณ์โควิดที่ผู้สูงอายุต้องอยู่พักรักษาตัวที่บ้าน ลดการไปโรงพยาบาลลง ความต้องการอุปกรณ์จึงเพิ่มขึ้นด้วย

อุปกรณ์ผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มสดใส

1. อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการป้องกันรักษาเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ

2. อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เช่น เตียง รถเข็น ราวจับช่วยพยุง พื้นกันลื่นลดแรงกระแทก ทางลาด ลิฟต์ยกรถเข็น รวมถึงอุปกรณ์ขอความช่งยเหลือฉุกเฉินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์เซ็นเซอร์แจ้งเตือนการหกล้ม

โดยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีเตียงไฟฟ้าและรถเข็นไฟฟ้า เป็นสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศ และผู้ประกอบการไทยเองก็มีศักยภาพในการผลิต อย่างไรก็ดียังมีสินค้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอุปกรณ์เพื่อผู้สูงวัยในไทยได้ทั้งหมดจึงต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เป็นไฮเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่าอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีอย่างง่ายในประเทศ

โอกาสของผู้ประกอบการไทยในอุปกรณ์ผู้สูงวัย

• ผู้ประกอบการไทยควรต้องยกระดับการผลิตอุปกรณ์ผู้สูงวัยที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

• พัฒนามาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะมาตรฐานสากลเพื่อต่อยอดไปตลาดต่างประเทศได้

• ปรับตัวเพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น ราคาที่เข้าถึงได้ การสร้างแบรนด์สินค้า

• สร้างความแตกต่างของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่น จากความเข้าใจในวิถีชีวิตและความต้องการของผู้สูงอายุในไทย

การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์เพื่อสูงวัย จึงยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาในตลาดได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ การแสวงหาโอกาสอยู่เสมอจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการรอดและไปต่อได้