posttoday

สัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในการประชุม 28-29 ก.ค.นี้

26 กรกฎาคม 2564

ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.20 ในสัปดาห์นี้ ตลาดยังคงมีแนวโน้มกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.20 ในสัปดาห์นี้ ตลาดยังคงมีแนวโน้มกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ตลาดรอคอยผลการประชุมของเฟด โดยเฉพาะสัญญาณการลดคิวอี โดยที่ผ่านมา ตัวเลขตลาดแรงงานยังฟื้นตัวอย่างไม่เต็มที่ และมีปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้นในประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาตลาดเริ่มประเมินว่าเฟดอาจเริ่มลดปริมาณซื้อสินทรัพย์ล่าช้าออกไป ด้านไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีแนวโน้มกดดันเงินบาทต่อไป ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มทยอยจากยอดส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตในระดับสูง

นอกจากนี้ ยังจะมีการประกาศจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ และยูโรโซน ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ จะมีการเปิดเผยตัวเลขราคาเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล การใช้จ่ายส่วนบุคคล และรายได้ส่วนบุคคล รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วย ในขณะที่ยูโรโซนจะเปิดเผยอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้อีบีซีส่งสัญญาณนโยบายระยะถัดไปที่ชัดเจนขึ้น ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นจะเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตและยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนซึ่งคาดว่าจะสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเดือนก่อนหน้า

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2564 เงินบาทเปิดตลาดต้นสัปดาห์อ่อนค่า และทยอยอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดการเงินทั่วโลกอยู่ในภาวะปิดความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยนักลงทุนลดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่แตะระดับสูงสุดใหม่หลายวันติดต่อกัน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงเกิน 100 คนต่อวัน ประกอบกับความกังวลต่อแนวทางการรับมือของภาครัฐ รวมถึงและประสิทธิภาพและปริมาณของวัคซีนที่เพียงพอ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า การระบาดของไวรัสในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง 0.8%-2.0% หากภาครัฐไม่มีมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมและการส่งออกยังคงฟื้นตัวในอัตราเดิม และประเมินว่า ช่วงเวลาที่ไทยจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้สำเร็จจะช้าออกไปจากไตรมาสที่ 2 ปี 2022 เป็นปลายไตรมาสที่ 3 ปี 2022 ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ในกลุ่มที่เงินอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลง 2.62% เมื่อเทียบกับต้นเดือน

ด้านนโยบายการเงิน ธปท. กังวลหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90.5% ต่อจีดีพีในไตรมาสแรกของปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนาน โดย ธปท. จะออกโครงการหมอหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายกลุ่ม รายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในเดือนสิงหาคมนี้ และจะปรับลดค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์มากกว่า 300 รายการ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของธนาคารพาณิชย์ ส่วนการปรับลดเพดานหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมาก เมื่อความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลของไบเดนวางแผนขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ให้ได้ภายในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ แต่หากแดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการลดรายจ่ายของภาครัฐ อาจเสี่ยงเกิดการหยุดชะงักของภาครัฐ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งสัญญาณสอดคล้องกันว่ายังคงต้องการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ปรับขึ้นเป้าหมายเงินเฟ้อมาที่ 2% จากก่อนหน้านี้จะตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงแต่ต่ำกว่า 2% สะท้อนว่าแม้ในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเหนือ 2% อีซีบีมีแนวโน้มคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียกลับมาส่งสัญญาณเพิ่มปริมาณการซื้อสินทรัพย์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากก่อนหน้านี้ที่มีสัญญาณการทยอยขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนักเมื่อเทียบกับความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศจากการระบาดของโควิด-19

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.91 ในวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดตลาดด้วยภาพที่นักลงทุนอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk-off mode) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1.13% โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ก่อนที่อัตราผลตอบแทนจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่แถวบริเวณ 1.28% ขณะที่การประกาศยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรฐัฯ พุ่งสูงขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 419,000 ตำแหน่ง สวนทางกับที่ตลาดคาดที่ 350,000 ตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนคิดว่ามุมมองที่ค่อนข้าง dovish จากเฟดจะยังคงอยู่สนับสนุนตลาดตราสารหนี้ จนกว่าจะเห็นตัวเลขของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจัยดังกล่างข้างต้นสอดคล้องกับตลาดฟิวเจอร์โดย FED Fund Future ได้ขยับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps จากเดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ออกไปเป็นครึ่งแรกของปี 2023

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง (Flattening) โดยสถานการณ์ภายในประเทศเผชิญกับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้นักลงทุนเริ่มพูดถึงอุปทานในตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาประเมินว่าการแพรร่ระบาดระลอกใหม่นี้จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 0.8-2.0% โดยหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง 0.8% แต่หากการแพร่ระบาดยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลง 2.0% ทำให้เห็นการเข้าซื้อในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว โดย ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.51% 0.58% 0.81% 1.14% และ 1.60% ตามลำดับ

สัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในการประชุม 28-29 ก.ค.นี้

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 8,713 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 5,506 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,212 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 5 ล้านบาท