posttoday

สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และนโยบายการเงินของอีซีบี

19 กรกฎาคม 2564

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.20 ในสัปดาห์นี้ การระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

คอลัมมันนี่วีก (Money… week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.20 ในสัปดาห์นี้ การระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งเพิ่มความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ในด้านนโยบายการเงิน คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีกำหนดแถลงหลังจากการประชุมนโยบายการเงิน โดยตลาดรอติดตามสัญญาณนโยบายดอกเบี้ย มาตรการซื้อสินทรัพย์ และกลยุทธ์เป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของจีนอยู่ในสายตาของตลาดเช่นกัน เนื่องจากธนาคารกลางจีนเพิ่งจะเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินด้วยการลดอัตราเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยที่ตลาดไม่ได้คาดหมายไว้ ในเอเชีย ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีกำหนดประชุมนโยบายการเงิน โดยประเมินว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ด้านไทย กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขการส่งออกระบบศุลกากร โดยต้องติดตามพัฒนาของดุลการค้า ในช่วงที่ต้นทุนการขนส่งอยู่ในระดับสูง และเกิดภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2564 เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงต่อเนื่อง และการใช้มาตรการปิดเมืองของภาครัฐ โดยภาครัฐจะอนุมัติวงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทเพื่อเยียวยาเพิ่มเติมแก่แรงงานและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง รวมถึงช่วยเหลือค่าน้ำและค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือนแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ทำให้หลายฝ่ายลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลง เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่แม้จะปรับลดประมาณการจีดีพีลงเหลือ 1.8% ในปีนี้ และ 3.9% ในปีหน้า แต่ระบุความเสี่ยงด้านต่ำจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าและการปิดเมืองรอบใหม่ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 1.0% จาก 1.8% เนื่องจากมองการแพร่ระบาดที่รุนแรงและการปิดเมืองกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยว แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนและออกมาตรการช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ทั้งหมด และล่าสุด ธนาคารโลกลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.2% จาก 3.4% จากการระบาดไวรัสระลอกที่ 3 และภาคการท่องเที่ยวที่อ่อนแอ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2022 แต่เป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม โดยประเมินจีดีพีในปีหน้าขยายตัว 5.1% ในขณะที่หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพีในปี 2022 แม้สูงกว่ากรอบวินัยการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี แต่ธนาคารโลกมองว่าอยู่ในวิสัยที่จัดการได้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายของตลาด มาอยู่ที่ 5.4%YoY แต่ตลาดตอบรับกับท่าทีของเฟดที่ยืนยันว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ตามที่โพเวลแถลงกับสภาคองเกรสว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่ยังคงห่างจากเป้าหมาย จึงยังไม่เริ่มลดคิวอีในเร็ววันนี้ โดยมองว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในช่วงหลายเดือนข้างหน้าจะค่อยๆ ลดลงหลังจากนั้น และเฟดจะหารือเกี่ยวกับการซื้อสินทรัพย์ต่อในการประชุมครั้งถัดไป ในขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะฟื้นตัวช้าจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ค่าเงินสกุลปลอดภัยจะมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง ในขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.75 ในวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นไปทำจุดสูงสุดของสัปดาห์แถวบริเวณ 1.42% จากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายของตลาดอยู่ที่ 5.4%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 4.9%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5%YoY สูงสุดตั้งแต่พฤศจิกายน ปี 1991 โดยในรายละเอียดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมือง เช่น ค่าเช่ารถ รถมือสอง ประกันรถ ค่าที่พัก และตั๋วเครื่องบิน ทำให้แนวคิดที่ว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณโพเวล ประธานเฟดแถลงต่อสภาคองเกรสว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงห่างจากเป้าหมาย จึงยังไม่เริ่มลดคิวอีในเร็ววันนี้ โดยมองว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในช่วงหลายเดือนข้างหน้าจะค่อยๆ ลดลง หลังจากนั้นเฟดจะพิจารณาหากเงินเฟ้ออยู่สูงกว่า 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งคำแถลงดังกล่าวมีโทนค่อนข้าง dovish และส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่แถวบริเวณ 1.33%

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นการปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง (Flattening) โดยสาเหตุหลักมาจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่รุนแรงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.2% จาก 3.4% จากการระบาดไวรัสระลอกที่ 3 และภาคการท่องเที่ยวที่อ่อนแอ พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2022 ทำให้เราเห็นแรงเข้าซื้อในพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางถึงยาว โดย ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.51% 0.56% 0.82% 1.16% และ 1.66% ตามลำดับ

สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และนโยบายการเงินของอีซีบี

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 18,939 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,662 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,580 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 15,697 ล้านบาท