posttoday

ไทยประกาศจีดีพี ส่งออก และรอติดตามรายละเอียดบันทึกประชุม กนง.

17 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 ในสัปดาห์นี้ สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่มีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมามาก ทั้ไทยและต่างประเทศ ตัวเลขสำคัญของไทย คือ จีดีพีไตรมาสที่ 1 ที่ตลาดคาดว่า จีดีพีไทยจะยังคงหดตัว แต่หดตัวน้อยกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ จะมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยและรายงานการประชุมนโยบายการเงินของไทย ด้านต่างประเทศ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์จะรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 เช่นกัน ด้านนโยบายการเงิน นอกเหนือจากการปาฐกถาของสมาชิกเฟดและอีซีบีแล้ว เฟดและธนาคารกลางของออสเตรเลียจะเปิดเผยรายงานการประชุม โดยตลาดรอความเห็นจองคณะกรรมการต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางของจีนจะประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำคัญของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และความเสี่ยงของพื้นที่ระบาดใหม่

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.05-31.40 โดยเปิดตลาดแข็งค่าสอดคล้องกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์เนื่องจากตลาดผิดหวังตัวเลขการจ้างงาน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ 2.66 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์หลังจากตลาดการเงินโลกเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนเร่งขึ้น 0.8%MoM (4.2%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 2009 โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าจากปัจจัยฐานต่ำและสอดคล้องกับการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานละอาหารสด) เร่งขึ้น 0.9%MoM (3.0%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 1982 นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากวามกังวลของนักลงทุนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. อนุมัติขยายมาตรการเราชนะและเรารักกัน โดยจะเพิ่มวงเงินใช้จ่าย 2,000 บาทต่อคน ใช้จ่ายได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ คิดเป็นวงเงิน 7.87 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติงบร่างประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2022 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท โดยต่ำกว่าปีก่อน 5.66% เมื่อเทียบกับประมาณการรายได้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท จะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นมาที่ 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ร่างงบประมาณดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระที่ 1 ช่วง 31 พฤษภาคม- 2 มิถุนายน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าปิดตลาดที่ระดับ 31.37 (วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาซื้อขายอยู่ในกรอบ 1.60-1.70% โดยประเด็นหลักที่ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นมาจากการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือนเมษายนที่เร่งขึ้น 0.8%MoM (4.2%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 2009 โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าจากปัจจัยฐานต่ำและสอดคล้องกับการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น 0.9%MoM (3.0%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี1982 โดยประเด็นนี้เองทำให้ตลาดเริ่มกลับมาพูดถึงช่วงเวลาที่เฟดจะส่งสัญญาณการลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายสัปดาห์อัตราผลตอบแทนก็มีการย่อตัวจากจุดสูงสุดแถวบริเวณใกล้เคียง 1.70% ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาแสดงความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นชั่วคราวและยังเร็วเกินไปที่จะถอนการผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของทางฝั่งยูโรโซนก็น่าสนใจ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดบริเวณ -0.10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2ปี โดยสาเหตุหลักมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ZEW เยอรมนีเดือนพฤษภาคมเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่ 84.4 จุด โดยความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดคาดหวังว่าเยอรมนีจะกลับมาเปิดเมืองได้ในเร็ววันนี้

ขณะที่อัตราผลตอบแทนในประเทศไทยเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับปัจจัยในต่างประเทศ โดยไฮไลท์อยู่ที่การประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB31DA ตัว Benchmark รุ่นอายุ 10ปีตัวใหม่ วงเงินประมูล 15,000 ล้านบาท ที่ปรากฏว่าผลออกมาถือว่าค่อนข้างดี สะท้อนผ่านช่วงผลอัตราผลตอบแทนที่ค่อยข้างแคบที่ระดับ 1.82-1.83% และ Bid coverage ratio 2.64 เท่า ทำให้ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.46% 0.52% 0.66% 1.04% 1.41% และ 1.78% ตามลำดับ

ไทยประกาศจีดีพี ส่งออก และรอติดตามรายละเอียดบันทึกประชุม กนง.

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 1,486 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 11,384 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,106 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,486 ล้านบาท