posttoday

ติตตามสถานการณ์โควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และจีน

10 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงติดตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนทั่วโลก ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งขึ้นในเดือนเมษายนจากผลของปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินตลอดทั้งปีแม้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา ด้านเอเชียอัตราเงินเฟ้อและยอดปล่อยสินเชื่อจีนจะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่จีดีพีของมาเลเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มหดตัวในไตรมาสที่ 1 จากผลกระทยของการระบาดของโควิด-19 ด้านนโยบายการเงินธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.0%

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนสูง โดยลดลงต่ำกว่า 31.00 ช่วงหนึ่ง และอ่อนค่าสูงกว่า 31.25 ระหว่างสัปดาห์ เนื่องจากการปรับสัดส่วนการถือครองการลงทุนของกองทุนและนักลงทุนเป็นสำคัญ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 5-6 พฤษภาคมมีเงินทุนต่างชาติเข้าตราสารหนี้ไทยสุทธิ 4.4 พันล้านบาท ด้านความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% และ ธปท. ลดคาดการณ์จีดีพีลง โดยมีสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 0.8-1.2 ล้านคนในปี 2021 และ 8-15 ล้านคนปี 2022 จีดีพีไทยมีแนวโน้มขยายตัว 1.0-2.0% และ 1.1-4.7% ตามลำดับ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนเมษายนกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือนจากปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ด้านนโยบายการคลัง ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.55 แสนล้านบาท โดยมาตรการในระยะเร่งด่วนประกอบด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนค่าสาธารณูปโภค และเงินช่วยเหลือโครงการเราชนะและโครงการ ม.33 ด้านมาตรการภายใต้กรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปีประกอบด้วยเงินช่วยเหลือโครงการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ โครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า เมื่อธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ส่งสัญญาณลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ในระยะต่อไป เนื่องจากมองเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตในปีนี้ จากเดิมที่คาดต้นปี 2022 โดยมองจีดีพีสหราชอาณาจักรขยายตัว 7.25% ปีนี้จากเดิมที่คาด 5% เนื่องจากการใช้จ่ายครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 1988 อีกทั้งตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่มีวิกฤตที่ 499,000 คนในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 538,000 เนื่องจากนายจ้างเริ่มกลับมาจ้างงานที่ว่างในช่วงวิกฤต และดัชนีภาคบริการ (ISM) ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 63.7 ในเดือนก่อนมาที่ 62.7 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.19 (วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 16.50 น)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงหลุด 1.60% มาซื้อขายอยู่ในช่วง 1.50-1.60% โดยประเด็นหลักที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงมาจากตัวเลขด้านดัชนีภาคบริการ (ISM) ที่ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 63.7 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 62.7 ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ (ADP) เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 7.42 แสนตำแหน่ง ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่มีวิกฤตที่ 499,000 คนในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังคงสะท้อนมุมมองของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต้องติดตามว่าเฟดจะส่งสัญญาณการลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์เมื่อไหร่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะกลับมากดดันตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวโดยมีความชันลดลง (Bull Flattening) ซึ่งประเด็นสำคัญภายในประเทศคือผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากต้องการรักษาระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ พร้อมกับมองจีดีพีปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1-2% จากเดิมที่คาด 3% และปี 2021 ขยายตัวในช่วง 1.1-4.7% ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำได้นานกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยภายในของเราเอง และจะเป็นปัจจัยที่จำกัดการขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในระยะต่อไป โดย ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.44% 0.51% 0.66% 1.02% 1.40% และ 1.76% ตามลำดับ

ติตตามสถานการณ์โควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และจีน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 9,599 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 5,428 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,191 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 20 ล้านบาท