posttoday

แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีจีน สู่ผู้นำเศรษฐกิจโลก

07 พฤษภาคม 2564

ในการประชุมสภาประชาชน (NPC Meeting) ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-year Plan) ซึ่งถือเป็นแผนยุทธศาตร์ชาติที่กำหนดทิศทางของจีนในช่วงปี 2021 - 2025 โดยรอบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ปธน. Xi Jinping ได้เข้ามามีบทบาทร่วมวางแผนด้วยตนเอง จากเดิมที่จะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและทีมบริหารเศรษฐกิจ โดยปี 2021 ถือเป็นปีแรกที่จีนได้ประกาศ “ชัยชนะต่อความยากจน” เป้าหมายต่อไปก็คือ การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

ในการประชุมสภาประชาชน (NPC Meeting) ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-year Plan) ซึ่งถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดทิศทางของจีนในช่วงปี 2021 - 2025 โดยรอบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ปธน. Xi Jinping ได้เข้ามามีบทบาทร่วมวางแผนด้วยตนเอง จากเดิมที่จะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและทีมบริหารเศรษฐกิจ โดยปี 2021 ถือเป็นปีแรกที่จีนได้ประกาศ “ชัยชนะต่อความยากจน” เป้าหมายต่อไปก็คือ การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้

ในด้านของเศรษฐกิจ จีนได้เปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่มักจะตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขชัดเจน เช่น GDP Growth 5 ปี เฉลี่ยปีละ 7% กลายเป็น การตั้งเป้า GDP Growth แบบปีต่อปี และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ล่าสุดแม้ GDP ไตรมาส 1/2021 ของจีนจะออกมาเติบโตสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปีที่ 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รัฐบาลได้ประกาศเป้า GDP Growth ทั้งปี 2021 อยู่ที่เพียงระดับ “มากกว่า 6%” เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่ Conservative กว่าประมาณการณ์ของ IMF ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ถึง 8.4% ในปีนี้ จุดนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณจากภาครัฐไปยังภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น ถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนที่ต้องการจะรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยง

อีกนโยบายหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของแผนยุทธศาตร์ฯ ครั้งนี้ ก็คือ นโยบายการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Green Ecology) โดยจีนหันมาให้ความสำคัญกับ “De-carbonization” และมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ที่ 18% ของ GDP ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การเป็นประเทศที่ “ปลอดคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี 2060 ในขณะเดียวกัน ยังได้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว โดยปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 55% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งนี้ สำนักวิจัยด้านการตลาดอย่าง Canalys คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในจีน

นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้ “Digital Economy” ขึ้นมามีสัดส่วนราว 10% ของ GDP ในปี 2025 ด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี 5.0 ทั้งเทคโนโลยี 5G, AI (Artificial Intelligence), Internet of Things, Smart Cities และ Semiconductors อีกทั้ง ยังมีการตั้งเป้างบประมาณการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 7% พร้อมกับการเพิ่มจำนวนการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมประเภท High-value Innovation ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ

ในแง่ของการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร รัฐบาลได้ตั้งเป้าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ปี จาก 77 ปี เป็น 78 ปี ควบคู่ไปกับการสนับสนุนอุตสาหกรรม Healthcare อย่างเต็มที่ภายใต้ “Healthy China 2030 Plan” ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาตัวยาที่มีคุณภาพร่วมกับบริษัทต่างชาติ และการเร่งอนุมัติยาตัวใหม่ให้เร็วขึ้นจาก CFDA (The China Food and Drug Administration) จนทำให้จำนวนยาใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ของจีนนั้น ได้แซงหน้าสหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้ประชาชน 100% มีประกันด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในราคาที่ถูกลง เป็นต้น นอกจากนโยบายด้านสาธารณสุขแล้ว รัฐบาลยังมีการตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรและลดอัตราการว่างงานในเขตเมืองลงสู่ระดับ 5.5% รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงที่ต่างประเทศยังมีความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยใช้ความได้เปรียบจากกำลังการบริโภคของประชากรจีนที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในระยะสั้นความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นจีนยังคงเป็น “Regulatory Risks” จากการที่รัฐบาลยังคงเข้ามาแทรกแซงและกำกับดูแลกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-commerce และ Fintech ยกตัวอย่างเช่น กรณีการระงับการเข้า IPO ของบริษัท Ant Group หรือ กรณีการปรับเงิน Alibaba มูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยข้อหาผูกขาดทางการค้า รวมไปถึงการจำกัดระยะเวลาในการให้บริการของบริษัทที่ทำธุรกิจ Online Education และ Gaming Services จากนโยบายที่ต้องการควบคุมเวลานอนของเยาวชน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนเรื่อง “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในยุคของ ปธน. Joe Biden ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณที่ตึงเครียดในระหว่างการพบปะกันของผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายที่ Alaska ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นประเด็นดังกล่าว นักลงทุนยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ส่วนในระยะยาว เรามองว่าภาพของเศรษฐกิจจีนมีความชัดเจนทั้งในแง่ของทิศทางการพัฒนา และการเติบโตอย่างมีคุณภาพตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนได้วางเอาไว้ โดยประเทศจีนยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการจากพลังการบริโภคภายในประเทศ ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เรามองว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนหุ้นจีนแบบ Selective เป็นรายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม China Health Innovation ที่ประกอบไปด้วยกลุ่ม Pharmaceuticals, Biotechnology, Healthcare IT, Medical Equipment ที่มีแนวโน้มเติบโตตาม Megatrends สังคมผู้สูงอายุในจีนและได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ รวมถึงกลุ่ม China Consumer Discretionary เช่น กลุ่ม E-commerce, EV, Online Education, Gaming Services ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาชั่วคราวจากความกังวลด้านกฎเกณฑ์จากภาครัฐ แต่ยังมีแนวโน้มการเติบโตตามการบริโภคภายในประเทศและรายได้ต่อหัวของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังอยู่ใน Megatrends ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อไป