posttoday

ปรับโฉมดัชนี Hang Seng ครั้งใหญ่

26 เมษายน 2564

หากกล่าวถึงหุ้นสหรัฐฯ เรามักคุ้นเคยกับดัชนี S&P500 หรือ ดัชนี DJIA ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นชั้นนำในสหรัฐฯ  คล้ายคลึงกับการที่เรากล่าวถึง ดัชนี SET ของหุ้นไทย แต่หากกล่าวถึงหุ้นจีนแล้ว ผมคิดว่า มีอยู่ 2 ดัชนีที่เรียกได้ว่า เป็นดัชนีหลักที่คนสนใจกล่าวคือ ดัชนี CSI300 ที่เป็นตัวแทนตลาดหุ้นจีน และดัชนี Hang Seng ที่เป็นตัวแทนของทั้งหุ้นจีนและฮ่องกง

เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา นักลงทุนหลายท่านที่ลงทุนในหุ้นจีนต่างโอดครวญ เพราะหากดูดัชนี CSI300 ซึ่งคือหุ้น A-share 300 ตัวแรก ปรับลงหนักในช่วงเดือนก.พ.หุ้นหลายตัวลงมากกว่า 20% โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี แต่หากพิจารณาผลตอบแทนจากต้นปีแล้ว จะพบว่าติดลบเพียงประมาณ 4% ในขณะที่ดัชนี Hang Seng ยังสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ราว 6% พอคิดแบบนี้แล้ว ผมก็ใจชื้นขึ้น ซึ่งจริง ๆ ทีม BLS Global Investing ของหลักทรัพย์ บัวหลวงมองว่า การปรับฐานครั้งนี้ สมเหตุสมผล เนื่องจากตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่บวกเด่นในปีก่อน หลังเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เห็นได้จาก GDP ของจีนที่บวก 2.3% เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มี GDP โตบวกได้ในปีก่อน ส่งผลให้ดัชนี CSI300 บวกได้ถึง 27% ในปี 2563 ดังนั้นการที่จะมีการพักฐานเป็นเปอร์เซนต์ตัวเลขหลักเดียวบ้าง น่าจะไม่ได้แปลกอะไร

หากกล่าวถึงปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นจีนต่อในปีนี้ ผมมองว่า อาจมี 2 ประเด็น คือ 1.การลดจำนวนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสภาประชาชนแห่งจีน (NPC) หรือพูดง่าย ๆ คือ รัฐบาลจีนอาจไม่ได้ใช้นโยบายการเงินและคลังผ่อนคลายเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ในปีก่อน โดยรัฐบาลตั้งเป้าลดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP (Budget Deficit) ปีนี้ลงเหลือ 3.2% จาก 3.6% ในปี 2563 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงตัวเลข Budget deficit ในอดีตจะพบว่า ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ราว 2.7% ดังนั้นระดับเป้าหมาย 3.2% ในปีนี้ มองว่า ยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายหากเทียบกับในอดีต 2.การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งมองว่ายังกดดันต่อภาพรวมของตลาดหุ้นโลก โดยทำให้หุ้นที่มี valuation สูง มีความน่าสนใจน้อยลง เช่น หุ้นเทคโนโลยีที่ซื้อขายบนความคาดหวังสูง ในขณะที่บริษัทยังไม่ได้มีกำไร

สำหรับประเด็นสำคัญอื่นที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ในปีนี้ ได้แก่ ตั้งเป้า GDP โตมากกว่า 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ Bloomberg consensus คาดการณ์ที่ 8.4% และตั้งเป้าเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3% จาก 3.5% ในปีก่อน รวมถึงตั้งเป้าว่า จะจ้างเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 11 ล้านตำแหน่ง จาก 9 ล้านตำแหน่ง ในปีก่อน นอกจากนี้รัฐบาลจีนจะเน้นการพัฒนาประเทศแบบ Green Economy มากขึ้น โดยตั้งเป้าเป็นประเทศปลอดมลพิษ (Zero Emission) ภายในปี 2060 ดังนั้นบทบาทของกลุ่มผู้ผลิตรถ EV สัญชาติจีน อาจมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันของทางฝั่งฮ่องกง คือ การปรับโฉมดัชนี Hang Seng ครั้งใหญ่ ซึ่งเพิ่งประกาศแนวทาง เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยดัชนีฮั่งเส็งจะทำการเพิ่มหุ้นในดัชนีขึ้นเป็น 80 ตัว จาก 55 ตัว ในปัจจุบัน และจะเริ่มปรับดัชนีตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 ไปสำเร็จกลางปี 2565 และใช้ต่อจากนั้น อีกทั้งจะลดการจำกัดน้ำหนักของหุ้น  1 ตัวลงเหลือ 8% จาก 10% เพื่อเป็นการลดผลกระทบของการเคลื่อนไหวราคาของหุ้นขนาดใหญ่ โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 เช่นกัน 

ผมมองว่าการปรับโฉมของดัชนี Hang Seng ครั้งนี้ มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากโดยปกติแล้วดัชนีฮั่งเส็งจะมีสัดส่วนของกลุ่ม Old Economy เป็นส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มการเงิน ที่มีสัดส่วนถึง 44% ของดัชนี ซึ่งหากดัชนีฮั่งเส็งทำการปรับโฉมสำเร็จ สัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Old Economy จะลดลง และจะมีสัดส่วนของหุ้น New Economy มากขึ้น เช่น Meituan (3690.HK), Alibaba (9988.HK) และมีหุ้นที่กลุ่ม New Economy ที่คาดว่าจะได้มาอยู่ในดัชนีนี้เพิ่ม เช่น JD Health (6618.HK), JD.com (9618.HK), SMIC (0981.HK), NetEase (9999.HK), Ping An Healthcare (1833.HK) เป็นต้น ซึ่งจะสะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ดีขึ้น เนื่องจากหุ้นกลุ่มดังกล่าว ถือว่ามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสูงในปัจจุบัน โดยหากนักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นที่อิงดัชนีฮั่งเส็งสามารถเลือกลงทุนใน ETF ที่ชื่อว่า 2800 (Tracker Fund of Hong Kong) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงได้