posttoday

ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ตัวเลขจีดีพีจีน

12 เมษายน 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week)โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.65 ในสัปดาห์นี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ของยุโรปและเอเชีย รวมถึงไทย ส่งผลให้มีการกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในไทยที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและฤดูกาลจ่ายเงินปันผล กดดันให้ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคมซึ่งมีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% และตัวเลขจีดีพีจีนซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 1/2021 ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์นี้

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทคลื่อนไหวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ตลอดสัปดาห์ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัว 1.7% ในกรณีเลวร้ายที่สุดหากมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทยเพียง 1 แสนคนในปีนี้ นอกจากนี้ รายงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของยุโรป (EMA) ที่พบความเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนิก้าและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบมากหากจำเป็นต้องระงับการฉัดวัคซีนชนิดนี้ เพราะนอกเหนือจากวัคซีนของแอสตร้าเซนิก้า ไทยสั่งซื้อเพียงวัคซีนของซิโนแวคเพียง 5% ของประชากรเท่านั้น

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2021 มาที่ 6.0% จากประมาณการเดิมในเดือนมกราคมที่ 5.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัว 4.4% จากประมาณการเดิมที่ 4.2% ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มขยายตัว 5.1% นำโดยสหรัฐฯ (+6.4%) และเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มขยายตัว 6.7% นำโดยจีน (+8.4%) ขณะที่ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจาก 2.7% เหลือ 2.6%

ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 31.50 ซึงเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 202 โดยเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.42 (เวลา 17.00 น.) ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับที่สมาชิกเฟดพร้อมใจกันส่งสัญญาณว่าจะรอความคืบหน้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจลดขนาดคิวอี ขณะที่คุณโพเวลส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน ณ ที่ประชุม IMF โดยให้ความเห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเมื่อชาวอเมริกัน 9-10 ล้านคนยังคงตกงานเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ แต่หากคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินระดับที่รับได้เฟดจะเข้ามาจัดการกับเงินเฟ้อต่อไป

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า ยกเว้นช่วงอายุประมาณ 3-5ปี ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น สืบเนื่องจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB256A วงเงินประมูล 30,000 ล้านบาท ที่ปรากฏว่าผลออกมาไม่ค่อยดีนัก สะท้อนผ่านช่วงผลอัตราผลตอบแทนที่ค่อยข้างกว้างที่ระดับ 0.84-0.89% และ Bid coverage ratio เพียง 1.07 เท่า ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลวันสงกรานต์ทำให้เห็นนักลงทุนมีการซื้อขายที่เบาบางลงไป ส่งผลให้ ณ วันที่ 09 เมษายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.45% 0.50% 0.65% 1.05% 1.49% และ 1.91% ตามลำดับ

ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ตัวเลขจีดีพีจีน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 4,759 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 310 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,861 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,412 ล้านบาท