posttoday

ทำไม เราต้องปลูกฝังเรื่องการเงินตั้งแต่ยังเด็ก

07 เมษายน 2564

โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP®

กองทุนบัวหลวง 

การปลูกฝังเรื่องการเงินตั้งแต่ยังเด็กๆ นั้น ก็เพื่อเป็นการเริ่มต้นสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า ส่วนใหญ่มักจะสอนแต่วิชาชีพที่ทำให้เราหาเงิน ส่วนการสอนเก็บเงินนั้นโดยมากมักจะเกิดจากครอบครัวที่สอนกันมา ยิ่งเรื่องการใช้จ่ายเงินยิ่งไม่มีใครเคยสอนกันเลย เพราะเรื่องใช้จ่ายเงินนั้นง่ายกว่าหาเงินได้ซะด้วยซ้ำไป ในขณะที่จริงๆ แล้ว หาได้เท่าไหร่ ใช้กันเท่าไหร่ ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับมีเงินเหลือออมหรือเปล่า ดังนั้น การเริ่มปลูกฝังเรื่องการเงินตั้งแต่ยังเด็ก จะช่วยให้เขามีภูมิคุ้มกันทางการเงิน เอ๋มีวิธีง่ายๆ ให้ลองใช้กับลูกหลานกันดูค่ะ

วัยอนุบาล: ออมก่อนใช้ วัยนี้เป็นวัยที่กำลังน่ารัก ช่างพูด ช่างคุย ช่างสงสัย และส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะให้เงินค่าขนมเป็นรายวัน เอ๋แนะนำให้ค่าขนมเป็นเหรียญ หรือแบงก์ย่อยๆ และสอนให้แบ่งเงินที่ได้รับหยอดกระปุกก่อนเอาไปใช้จ่าย ในวัยนี้จะช่างสงสัยว่า ทำไมให้เงินหนูแล้วต้องหยอดกระปุกก่อน เดี๋ยวหนูไม่มีเงินไปซื้อขนม ก็สามารถสอนและแนะนำเขาได้ หรือลองให้เขาเอาเงินไปกินขนมก่อน แล้วพูดคุยกับเขาเมื่อกลับจากโรงเรียน ว่า เขามีเงินเหลือกลับมาหยอดกระปุกมั้ย เหลือเท่าไหร่ กับการที่เขาตัดใจแบ่งเงินหยอดกระปุกก่อนไปซื้อขนมที่โรงเรียน แบบไหนทำให้มีเงินเหลือมากกว่ากัน และเพื่อสร้างแรงจูงใจ อาจมีรูปของที่เขาอยากได้แปะไว้ที่กระปุก พร้อมกับจำนวนเงินที่ต้องการ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เขาอยากออมเงินมากยิ่งขึ้น

วัยประถม: บันทึกรายรับ - รายจ่าย วัยนี้เขาเริ่มเติบโตขึ้นมา เริ่มมีความคิดอ่าน เราสามารถสอนให้เขาทำบันทึกรายรับ - รายจ่ายในแต่ละวันได้ ว่า วันนี้ได้เงินค่าขนมเท่าไหร่ ออมก่อนใช้จ่ายกี่บาท ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง แล้วเหลือกลับมาออมอีกมั้ย เขาจะได้รู้จักตัวเองว่า จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน ถ้าเขาอยากมีเงินออมมากขึ้น เขาจะตัดค่าใช้จ่ายอะไรออกไป ถ้าใช้น้อยกว่าที่ได้มา เขาจะมีเงินเหลือ แต่ถ้าใช้มากกว่าที่ได้ก็ต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เงินเก็บก็จะค่อยๆ หมดลง นอกจากนี้ ต้องให้เขารู้ว่าที่มาของเงินที่เขาใช้จ่าย ได้มายังไง ได้มาจากการที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานเหน็ดเหนื่อย ไม่ใช่ลอยมาฟรีๆ หรือไปกดได้เรื่อยๆ ที่ตู้ ATM

วัยมัธยม: เริ่มหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้เงินเป็นรายสัปดาห์ เพื่อสอนให้เขาบริหารจัดการเงินเอง และให้เขาช่วยรับผิดชอบการทำงานในบ้านที่สามารถทำได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน นอกเหนือจากงานที่เขาได้รับมอบหมายแล้ว เราสามารถเสนองานพิเศษ เพื่อแลกกับรางวัลที่เพิ่มขึ้น เช่น ช่วยล้างรถให้คุณพ่อ ช่วยคุณแม่ทำกับข้าว หรือให้ลองขายของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้รู้จักต้นทุน กำไร ขาดทุน นอกจากนี้ ให้เขาลองเปิดบัญชีธนาคาร ให้เขานำรายได้พิเศษที่ได้รับไปฝาก จะได้เห็นเงินที่เพิ่มขึ้นและรู้จักดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ว่า มีความแตกต่างกันยังไง ให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

มหาวิทยาลัย: รู้จักการตั้งเป้าหมาย และใช้วิธีการออม/ลงทุน ให้ถึงเป้าหมายนั้น เมื่อลูกเติบโตขึ้นเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เขาจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้น การให้เงินเขาไปเรียนอาจเปลี่ยนมาให้แบบรายเดือน เพื่อให้เขาลองบริหารจัดการเงินของเขาให้พอใช้ ในช่วงวัยนี้ต้องให้เขารู้จักการตั้งเป้าหมาย และใช้วิธีการออมเงิน หรือลงทุน โดยแนะนำสินทรัพย์ทางการเงินให้เขารู้จัก ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนทางตรง ในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น อสังหาฯ หรือการลงทุนทางอ้อมในรูปแบบกองทุนรวม เมื่อเขาอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ลองให้เขาเปิดบัญชีกองทุนชื่อตัวเอง เพื่อให้เขามีความภูมิใจ และได้เลือกนโยบายกองทุนด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ต้องให้เขารู้จักเรื่องการกู้ยืมด้วย เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ให้รู้จักอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ว่า มีความแตกต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากขนาดไหน เพื่อให้มีสติในการใช้จ่ายเงิน รวมถึงเรื่องภาษี เพื่อในอนาคตเขาเรียนจบไปทำงานจะได้รู้ว่า เมื่อไหร่ต้องยื่นภาษีและสามารถบริหารจัดการเรื่องภาษีของตัวเองได้

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน เราสามารถสอนให้เขารู้จักแบ่งปันให้กับเพื่อน ให้กับคนที่ด้อยโอกาสกว่าเราได้ ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งปันขนม แบ่งปันของเล่น  การให้ทาน และการบริจาค หากอยากมีเงินเหลือใช้ ต้องอย่าลืมพูดกับเขาบ่อยๆ ให้ใช้เงินน้อยกว่าที่ได้มา และการใช้จ่ายอย่างประหยัด จะช่วยให้มีเงินออม มีเงินลงทุนมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เขาเข้าใกล้เป้าหมายที่เขาต้องการได้ง่ายขึ้นค่ะ