posttoday

เมื่อบิทคอยน์ คือ ผู้ท้าชิงตำแหน่งสกุลเงินหลักของโลก

07 เมษายน 2564

โดย ณัฐพล ปรีชาวุฒิ

กองทุนบัวหลวง

เมื่ออุบัติการณ์ COVID-19 เริ่มต้นในปีก่อน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีบทบาทเป็น Safe Haven ที่สำคัญอีกครั้งเหมือนในหลายปีที่ผ่านมา โดยถึงแม้จะเริ่มมีคนเริ่มคลางแคลงถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาอำนาจของโลก แต่ดอลลาร์สหรัฐก็ยังทำหน้าที่เป็นสกุลเงินหลักของการค้าโลกและยังเป็นเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองของธนาคารกลางโลกส่วนใหญ่

ก่อนหน้าที่ดอลลาร์สหรัฐ จะทำหน้าที่ดังกล่าวในปัจจุบัน ในอดีตมีเพียง 5 สกุลเงินที่เคยทำหน้าที่เป็น Reserve Currency ของโลก โดยต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 ที่เริ่มต้นด้วยสกุลเงินของประเทศโปรตุเกสและต่อด้วยสเปน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร โดยแต่ละสมัยกินเวลาเฉลี่ยราว 94 ปี ซึ่งหากเรานับการครองสมัยของดอลลาร์สหรัฐจนถึงปัจจุบันนั้นกินเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว จึงเป็นเหตุให้หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าดอลลาร์สหรัฐ จะทำหน้าที่เป็น Reserve Currency ได้นานอีกเท่าใหร่ โดยก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ท้าชิง อาทิ เงินยูโร ที่เริ่มใช้ในปี 1999 แต่ก็ไม่สามารถได้รับความเชื่อมั่นที่เพียงพอในระดับโลก เนื่องจากประสิทธิภาพของการบริหารในรูปแบบหลายรัฐของยูโรโซนยังไม่มีมากนัก หรือแม้กระทั่งผู้ท้าชิงอย่างเงินหยวนของจีนในช่วงหลายปีให้หลัง แต่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยในทางตรงกันข้ามกับค่าเงินยูโร นั่นคือ หยวนถูกกำหนดและควบคุมโดยรัฐบาลจีนอย่างคาดการณ์ได้ยาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางการสหรัฐฯ จึงยังคงมั่นใจในสถานภาพของเงินดอลลาร์ของตัวเอง และได้พิมพ์เงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ในปีก่อน แต่หารู้ไม่ว่าสกุลเงินใหม่อย่าง สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency กลับมามีบทบาทมากขึ้นและกลายมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งสกุลเงินหลักของโลกรายใหม่ บิทคอยน์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยคุณลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนสกุลเงินอื่นๆ ในโลก นั่นคือ การปราศจากควบคุมโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ปรับลดมูลค่าดอลลาร์ของตัวเองลงผ่านการพิมพ์เงินเพิ่มมหาศาล จึงทำให้นักลงทุนไม่น้อยที่จะเริ่มซื้อและลงทุนในบิทคอยน์จนทำให้ราคาของบิทคอยน์ปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ร้อนแรงที่สุดในปี 2020

แรกเริ่มในปี 2009 ผู้สร้างบิทคอยน์นั้นสร้างบิทคอยน์ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทองคำดิจิทัล (Digital Gold) หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) และเป็นแหล่งหลบภัย (Safe Haven) ในยามเกิดวิกฤติ แต่ผู้ต่อต้านกลับมองว่าเป็นการยากที่จะรู้สึกปลอดภัยกับการถือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงเช่นนี้ เพราะฟองสบู่ของบิทคอยน์เพิ่งจะแตกไปเมื่อไม่ถึง 3 ปีที่ผ่านมา และการเคลื่อนไหวของราคาบิทคอยน์ยังผันผวนมากกว่าทองคำ 4 เท่าตัว อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกต คือ ผู้ที่ต่อต้านบิทคอยน์ส่วนมากเป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้เกิดมาควบคู่กับเทคโนโลยี โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีเพียงร้อยละ 3 ของกลุ่มคนวัย Baby Boomer ที่ถือครอง Cryptocurrency ในขณะที่มีถึงร้อยละ 27 ของกลุ่มคนวัย Millennial ที่ถือครอง Cryptocurrency และตัวเลขดังกล่าวก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คิดได้ว่า Cryptocurrency หรือบิทคอยน์กำลังฝังรากลงไปในการลงทุนของนักลงทุนหน้าใหม่ลึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เราอาจกำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อพิจารณาถึงปริมาณหนี้สาธารณะที่สหรัฐก่อขึ้นในช่วง 10 ปีก่อน พบว่า สหรัฐฯ มีปริมาณหนี้สาธารณะมากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่มักส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมา แต่นั่นยังน้อยไปมากเมื่อเทียบกับในช่วง COVID-19 ที่สหรัฐฯ กู้เงินและพิมพ์เงินเพิ่มอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งไปสูงถึงร้อยละ 67 ของมูลค่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระดับที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก และจนถึงปัจจุบัน ทางการสหรัฐฯ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ยังคงยืนกรานที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มทุเลาลง ทำให้ชวนคิดว่า หรือนี่จะคือจุดสิ้นสุดของดอลลาร์ คือเมื่อทั่วทั้งโลกเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสามารถจ่ายคือหนี้ดังกล่าวได้ สถานะการเป็นสกุลเงินหลักของโลกจะหายไปด้วย ดังที่เกิดในสกุลเงินอื่นในทุกครั้งที่ผ่านมา

บิทคอยน์ในปัจจุบันกำลังเริ่มทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญ นั่นคือ เป็นสื่อกลางทางการค้า (Medium of Exchange) โดยทุกวันนี้ บิทคอยน์ถูกถือครองในลักษณะของการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรธุรกิจบางรายเริ่มใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินในการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยากที่จะเข้าถึงอาทิ ไนจีเรีย หรือประเทศที่มีสกุลเงินที่ขาดเสถียรภาพอย่างอาร์เจนตินา และข่าวที่ฮือฮาในช่วงปลายปี 2020 ที่ทาง PayPal ประกาศเริ่มที่จะสะสมบิทคอยน์และมีท่าทีที่จะรองรับการทำธุรกรรมโดยใช้บิทคอยน์ในอนาคต

การปรับตัวขึ้นของบิทคอยน์จนเป็นลักษณะฟองสบู่ในรอบนี้ ถึงแม้จะเกิดการแตกตัวในไม่ช้า แต่ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบ Cryptocurrency ในครั้งนี้ น่าจะส่งสัญญาณเตือนถึงธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลของทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐฯ ว่า ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลกที่ใช้เป็นที่การเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) หรือเป็นสื่อกลางทางการค้า (Medium of Exchange) ได้ตลอดไป จะยังคงมีสกุลเงินอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์ที่เป็นผู้ท้าชิงที่น่าจับตามองและอาจสามารถช่วงชิงตำแหน่งสกุลเงินหลักของโลกได้ในอนาคต