posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายห้ามการทำแท้ง

06 เมษายน 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก คือ การที่ประเทศไทยได้ปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำแท้ง จากเดิมที่การทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งเป็นการกระทำความผิดในเกือบทุกกรณีซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ ไปเป็นการให้การทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งในช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไม่ใช่การกระทำความผิดในทุกกรณี และหากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็สามารถทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

คำถามที่ว่าบุคคลควรทำแท้งได้อย่างเสรีหรือไม่นั้นเป็นคำถามสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนานและกว้างขวางในเชิงศาสนาและกฎหมาย กลุ่มผู้นับถือศาสนาบางศาสนาที่เชื่อว่าชีวิตเริ่มขึ้นตั้งแต่มีการปฏิสนธิจึงมักไม่เห็นด้วยกับการให้ทำแท้งได้อย่างเสรีเพราะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในครรภ์ ต่างจากแนวคิดของนักกฎหมายบางกลุ่มในประเทศที่กฎหมายบัญญัติให้สภาพความเป็นบุคคลเริ่มขึ้นเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก การทำแท้งจึงไม่ใช่การฆ่าคนในสายตาของกฎหมาย อีกทั้งกฎหมายห้ามการทำแท้งยังเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมายห้ามการทำแท้งจะดี (Optimal) หรือไม่ดีนั้น ไม่ได้ถูกตัดสินตามบรรทัดฐานความดีในเชิงศีลธรรมข้างต้น หากเป็นไปตามความหมายในเชิงประสิทธิภาพ กล่าวคือ หากกฎหมายห้ามการทำแท้งช่วยให้สังคมบรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก็ถือว่ากฎหมายนี้ดี แต่หากกฎหมายที่บัญญัติมีต้นทุนสูงโดยไม่จำเป็น หรือเป็นกฎหมายที่นอกจากไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายแล้วยังส่งผลตรงข้ามกับเป้าหมายที่วางไว้ ก็ถือว่าเป็นกฎหมายไม่ดีที่ควรถูกยกเลิกหรือปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป ในบทความนี้ ผมขอรวบรวมแนวคิดและผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งมาสรุปเป็น 2 ประเด็น คือ แนวคิดในเชิงทฤษฎี และผลการวิจัยเชิงประจักษ์ ดังนี้ครับ

แนวคิดในเชิงทฤษฎี แนวคิดในเชิงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับกฎหมายห้ามการทำแท้ง มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดอย่างน่าสนใจในแง่ที่ว่า กฎหมายทั้งสองประเภทมุ่งใช้การกำหนดโทษเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผู้ออกกฎหมายเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยมีแนวคิดแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมาว่า เมื่อมีกฎหมายห้ามการทำแท้ง คนก็ไม่ทำแท้งเพราะกลัวว่าจะต้องได้รับโทษ อีกทั้งกฎหมายนี้ยังอาจมีผลในเชิงป้องปราม (deterrent effect) ไม่ให้คนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยไม่ป้องกันอีกด้วย เพราะกลัวที่จะต้องแบกรับต้นทุนจากการเลี้ยงลูกที่ไม่พร้อมจะให้เกิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์โดยใช้หลักอาชญาเศรษฐศาสตร์แล้ว กฎหมายห้ามการทำแท้งนี้กลับมีผลในการยับยั้งไม่ให้กระทำความผิดน้อยมากเนื่องจากปัจจัยสองประการ คือ ในประการแรก สำหรับหลายคนที่ต้องการทำแท้งแล้ว ประโยชน์ที่ได้จากการทำแท้งคือการไม่ต้องเลี้ยงเด็กที่ไม่ต้องการให้เกิดมานั้นสูงกว่าต้นทุนของการทำแท้งคือการต้องฝ่าฝืนกฎหมายและค่าใช้จ่ายในการทำแท้งเถื่อน และในประการที่สอง ความน่าจะเป็นในการถูกจับได้ว่าทำผิดกฎหมายในกรณีนี้ค่อนข้างต่ำ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายอุปสงค์และอุปทานของการทำแท้งต่างเป็นผู้กระทำความผิด การทำแท้งจึงเป็นเรื่องที่รู้กันระหว่างคนไม่กี่คนซึ่งต่างก็กระทำความผิดด้วยกันนั้นและไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย กฎหมายห้ามการทำแท้งจึงเป็นเพียงกลไกที่ผลักอุปสงค์ของการทำแท้งส่วนใหญ่เข้าหาอุปทานของการทำแท้งเถื่อนซึ่งมีความไม่ปลอดภัยสูง และมีผลยับยั้งความคิดที่จะทำแท้งได้แต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น

สำหรับคนบางส่วนที่ถูกกฎหมายห้ามการทำแท้งยับยั้งนั้น ผลกระทบของกฎหมายค่อนข้างคลุมเครือ โดยในแง่หนึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้ที่เปลี่ยนใจต้องการมีลูกที่ถูกกฎหมายห้ามการทำแท้งยับยั้งการตัดสินใจที่เกือบจะผิดพลาดในอดีต แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่ขาดความพร้อม ไม่ต้องการและไม่สามารถเลี้ยงดูลูก แต่เกรงกลัวบทลงโทษของการทำแท้ง จึงจำใจต้องเลี้ยงดูลูกที่ไม่ต้องการให้เกิด

ผลการวิจัยในเชิงประจักษ์ โดยทั่วไปแล้ว งานวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมายมักมีน้อยเนื่องจากการขาดข้อมูล โดยส่วนใหญ่มักเป็นงานวิจัยในเชิงคุณภาพที่ได้จากสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลจำนวนไม่มากซึ่งอาจมีลักษณะไม่ตรงกับลักษณะทั่วไปของกลุ่มประชากร การประมาณการจำนวนการทำแท้งหรือการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านประชากร เศรษฐกิจและสังคมของผู้ตัดสินใจทำแท้งตลอดจนการศึกษาผลกระทบของการทำแท้งหรือกฎหมายห้ามการทำแท้งซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการวิจัยในเชิงปริมาณจึงทำได้ค่อนข้างยาก สำหรับประเทศไทยซึ่งการทำแท้งเป็นการกระทำความผิดมาเป็นระยะเวลานานนั้น ตัวเลขสถิติการทำแท้งในประเทศมีประมาณสามแสนครั้งต่อปีเป็นอย่างน้อย (มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีแห่งประเทศไทย) และจากข้อมูลของกรมอนามัยซึ่งพบว่า อัตราตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยอยู่ที่ประมาณ 300 ต่อการทำแท้งหนึ่งแสนครั้ง กฎหมายห้ามการทำแท้งจึงมีต้นทุนที่ต้องสูญเสียไปเท่ากับการเสียชีวิตของผู้หญิงนับพันคนต่อปีอย่างไม่จำเป็น

สำหรับประเทศที่ได้ยกเลิกกฎหมายห้ามการทำแท้ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามการทำแท้งให้เสรีขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายอาจถูกใช้เป็นการทดลองทางธรรมชาติ (natural experiment) ในรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาผลกระทบของกฎหมายต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ เช่น งานวิจัยที่มีชื่อเสียงของ Donohue III and Levitt (2001) พบว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาสหรัฐอเมริกาในปี 1973 ที่เปิดให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรีส่งผลให้อัตราการก่ออาชญากรรมในช่วงยี่สิบปีหลังคำพิพากษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการลดจำนวนเด็กจากครอบครัวที่ไม่พร้อมจะมีลูกซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นอาชญากรสูง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่พบว่า การอนุญาตให้ทำแท้งเสรีในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้อุปทานแรงงานเพศหญิงเพิ่มขึ้น (Kalist, 2004) มีส่วนช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้น (Bloom et al., 2009) เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานในอาชีพที่สร้างรายได้สูงเพิ่มขึ้น (Bahn et al., 2018) ตลอดจนมีส่วนช่วยให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่าเดิม และมีความเสี่ยงลดลงที่จะตกเป็นเด็กที่ต้องรับความช่วยเหลือจากสวัสดิการสังคมหรือเป็นเด็กจากครอบครัวที่พ่อหรือแม่คนเดียว (Ananat et al., 2009)

สุดท้ายนี้ ผมใคร่ขอย้ำว่า ถึงแม้ว่าผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ศึกษาผลกระทบของการทำแท้งเสรีในต่างประเทศดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการทำแท้งเสรีมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการนำนโยบายนี้มาใช้ในประเทศไทยจะได้ผลเช่นเดียวกันเสมอไป ผลจากการปรับกฎหมายห้ามการทำแท้งในประเทศไทยซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรนั้น อาจต้องรอให้เวลาผ่านไปซักระยะหนึ่งจึงจะสามารถเก็บข้อมูลที่จำเป็นมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้ตัดสินได้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิดครับ