posttoday

บันทึกการประชุม FOMC และแนวโน้มของเงินดอลลาร์

05 เมษายน 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 ในสัปดาห์นี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดมีแนวโน้มตอบสนองต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ ขณะที่สัญญาณนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากรายงานการประชุม FOMC และความเห็นของโพเวลในการประชุม IMF/ธนาคารโลกมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในวันจันทร์ โดยตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 1 ปี จึงมีแนวโน้มกระทบต่อความเชื่อมั่นของเงินบาท ในเอเชีย ธนาคารกลางออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอินเดียมีกำหนดประชุมนโยบายการเงิน โดยตลาดประเมินว่าธนาคารกลางทั้งหมดจะคงนโยบายการเงินไว้เหมือนเดิม

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 31.20-31.40 เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ปรับสูงขึ้น โดยตลาดเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากนักลงทุนประเมินผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้การเพิ่มเงินประกันของบริษัทเฮดจ์ฟันด์ Archegos Capital ซึ่งส่งผลให้เกิดการเทขาย Block Trade มูลค่าสูงถึง 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์แตะระดับอ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนหลังจาก ธปท. รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกุมภาพันธ์ขาดดุลมากขึ้นและติดต่อกัน 4 เดือน และจากอิทธิพลของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของจีนอ่อนแอต่อเนื่องในเดือนมีนาคม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ Caixin ลดลงมาที่ 50.6 ต่ำสุดตั้งแต่เมษายน 2020

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่างินดอลลาร์ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลังจากประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ เปิดเผยแผนการลงทุนระยะยาว 8 ปีในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดย ADP เดือนมีนาคมแตะระดับสูงสุดตั้งแต่กันยายน สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.30 (เวลา 17.15 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เคลื่อนไหวผันผวนในระหว่างสัปดาห์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ที่บริเวณ 1.77% พร้อมกับการปรับตัวแข็งค่าของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีการแถลงจากประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ถึงแผนการลงทุนระยะยาว 8ปี ในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ก็ปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้เรายังคงมุมมองว่าในภาพระยะกลาง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการคาดการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดไทยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวโดยมีความชันสูงขึ้น ซึ่งความชันที่สูงขึ้นเกิดจากการปรับตัวลดลงของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งลักษณะการปรับตัวดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวชันขึ้น โดย ณ วันที่ 02 เมษายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.45% 0.50% 0.63% 1.02% 1.48% และ 1.94% ตามลำดับ

บันทึกการประชุม FOMC และแนวโน้มของเงินดอลลาร์

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 3,932 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 753 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,416 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 2,237 ล้านบาท