posttoday

การมีและใช้อำนาจเหนือตลาด: โซ่ตรวนฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

23 มีนาคม 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจคงจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ (Top priority) ในช่วงเวลาถัดจากนี้ไปของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เรียกว่าผ่าน mode หรือช่วงของการเยียวยา ที่เข้าใจว่าใช้มาตรการในการส่งเสริม สนับสนุนด้านการบริโภคในระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งมีผลเป็นเพียงการประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักจนยากต่อการฟื้นตัว ในช่วงต่อไปก็คงจะเป็นช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญต่อความอยู่รอดและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต สำหรับประเทศไทย ภาระหน้าที่ในส่วนนี้คงจะหนักหนาสาหัสพอสมควรเพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับปัญหาไม่เฉพาะที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังรวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรค จนเกือบจะเป็นที่เห็นสอดคล้องกันว่าอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันโดยการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับผลิตภาพของประเทศ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ เป็นการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในคราวนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน (หรือหน่วยเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย) ในวงกว้าง ไม่ใช่การจำกัดแค่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเป็นหลักเหมือนอย่างที่เราเคยอาศัยภาคการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญในกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อคราววิกฤติต้มยำกุ้ง กอปรการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาผลิตภาพการผลิตก็เป็นไปในแนวทางการกระจายบทบาทหน้าที่ (ทางเศรษฐกิจ) ไปยังคนจำนวนมาก (Decentralization) ได้มีการตัดสินใจในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าในอดีตที่มีลักษณะเป็นการกระจุกตัวที่ศูนย์กลาง (Centralization) ซึ่งอาศัยแรงขับเคลื่อนจากส่วนกลาง ภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยมีความหวังว่าประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจะถึงส่งผ่านลงไปเป็นทอด ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วยคน (หน่วยเศรษฐกิจ) จำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจึงเป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงในฐานะผู้กำหนดกฎระเบียบในการสร้างให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขันอย่างเป็นธรรมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ปัญหาการผูกขาด หรือการใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเกินที่เรียกว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำเป็นเกิดความไม่มีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ การผูกขาดนอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนในการบริโภคจากการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพื่อการบริโภคในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะต้องจ่ายแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ผู้ผลิตที่มีอำนาจผูกขาดไม่จำเป็นต้องพัฒนาการผลิตของตนเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะสามารถตั้งราคาสินค้าที่ผลิตได้ตามโครงสร้างต้นทุน และตั้งราคาขายในราคาสูงเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ซึ่งอาจจะไม่ใช้ระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด) และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู (Economic Rehabilitation) และการเปลี่ยนผ่าน (Economic Transition) มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งรัด สนับสนุน และขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพการผลิต เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในช่วงของการช่วยเหลือเยียวยาเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไม่ให้ทรุดหนักจนทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความยากลำบาก มาตรการในลักษณะดังกล่าวมักจะมีผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในระยะยาว (เมื่อมีการใช้มาตรการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลานาน) เพราะกลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่มักจะมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในทางลบได้ดีกว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ลดลงทำให้การเข้าครอบครองธุรกิจ (ทั้งจากการควบรวม และการซื้อกิจการ) ทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่โครงสร้างตลาดจะมีการแข่งขันน้อยลง มีการผูกขาดมากขึ้นในหลายตลาด หรือหลายกิจการทางเศรษฐกิจ เช่น ถ้ามีการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก ต้นทุนในการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคย่อมสูงขึ้น และเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หรือแม้แต่ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภาครัฐดำเนินมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ แต่หลายมาตรการส่งผลให้เกิดความลักลั่นโดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (ซึ่งมีขีดความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่า) เข้าถึงผลประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐได้มากกว่าในขณะที่ยังมีผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กจำนวนมากที่เข้าถึงการให้ความช่วยเหลือได้น้อย เมื่อได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากขึ้น (มีการระบาดหลายรอบ และยังไม่มีความชัดเจนได้ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อใด) จนจำเป็นต้องตัดสินใจเลิกกิจการ ขายธุรกิจให้กับนายทุนรายอื่น ดังนั้น โครงสร้างตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายหลังการระบาดจึงมีแนวโน้มที่จะมีการผูกขาดมากขึ้น และจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีด้านการประมวลผล (Computational Technology) และด้านการติดต่อสื่อสาร (Communication Technology) ทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจเปิดกว้างมากขึ้นด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากในระยะเวลาที่สั้นลงกว่าในอดีตมาก ส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่จะทำให้คนในระบบเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ คือการสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม และการแข่งขันจะเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรการผลิตในประเทศ คนในระบบเศรษฐกิจได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นได้โดยการเพิ่มผลิตภาพการผลิต อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นทั่วโลกจนเศรษฐกิจโลกหดตัวลงจากการหยุดชะงักลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การปรับตัวต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่และการระบาดของโรคด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในระบบเศรษฐกิจสร้างโอกาสใหม่ให้กับสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ดีมากขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจ รายได้ถูกสร้างขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นภายในกลไกการแข่งขันของผู้ผลิตที่แข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทันสมัยสามารถถูกนำมาใช้เพื่อการกีดกัน สร้างความได้เปรียบเหนือคนอื่นในระบบเศรษฐกิจ มีรูปแบบใหม่ ๆ ของการสร้างอำนาจตลาด และการใช้อำนาจเหนือตลาดในการสร้างผลประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน กรณีที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านการแข่งขันของจีนเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของอาลีบาบา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างและใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อสร้างผลประโยชน์จำนวนมหาศาล สำหรับประเทศไทย ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำมากในระบบเศรษฐกิจเป็นทุนอยู่แล้ว มีความเป็นไปได้มากที่จะมีแนวโน้มของการเกิดการผูกขาด หรือการใช้อำนาจผูกขาดในรูปแบบต่าง ๆ ได้มาก ซึ่งรัฐจำเป็นจะต้องสอดส่องดูแล และมีการกำกับเพื่อไม่ให้เกิดการขยายวงของการใช้อำนาจเหนือตลาด เพราะการผูกขาดและการใช้อำนาจเหนือตลาดจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ประเทศต้องการการลงทุนจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คงจะต้องหวังกันว่าหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ตรงนี้จะมีอำนาจ มีเครื่องมือที่เพียงพอในการรับมือกับความท้าทายที่กำลังขยายวงในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็ว