posttoday

การระบาดของไวรัสยังกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดตามการเจรจา Brexit

23 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.40 การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่นำไปสู่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในหลายรัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปจนหลังการเข้าทำงานของคองสภาคองเกรสชุดใหม่ในเดือนมกราคมยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ทั้งนี้ นักลงทุนรอติดตามแนวโน้มการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในสัปดาห์นี้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในยูโรโซนมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากการกลับมาระบาดของไวรัส สำหรับไทย ตลาดคาดว่าการส่งออกเดือนตุลาคมจะยังคงหดตัว ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางยุโรปมีกำหนดเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงิน ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ จากภาวะ Risk-on ในตลาดการเงินโลก หลังจากโมเดิร์นนารายงานผลเบื้องต้นของการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 มีประสิทธิผล 94.5% และ จีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 ที่หดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -6.4%YoY จากไตรมาสก่อนที่ -12.1%YoY ทำให้ สศช. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2020 ดีขึ้นมาที่ -6.0% จากเดิมที่ -7.5% ทั้งนี้ เงินบาทปรับอ่อนค่าลงหลังจากการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท. ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 0.50% แต่ได้ส่งสัญญาณมาตรการลดบาทแข็ง โดยในวันศุกร์ ธปท. ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) และการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้ง กำหนดให้นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย (Bond Pre-Trade Registration) ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการที่ประกาศคล้ายกับในรอบก่อนๆ ตามที่คาด ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระยะยาวมากกว่า แต่จะช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้น้อย ส่งผลให้หลังจากการประกาศมาตรการเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น โดยบาทปิดตลาดที่ 30.32 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยสาเหตุหลักที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนคือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับความเห็นจากประธานเฟดที่กล่าวว่าการกลับมาระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งนี้พัฒนาการของการทดลองวัคซีนเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจในรยะปานกลาง แต่ย้ำว่ายังต้องใช้เวลานานก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับเป็นปกติ ขณะเดียวกันตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ขยายตัวน้อยกว่าคาด สะท้อนความกังวลของผู้บริโภคหลังไวรัสโควิด19 กลับมาระบาดรุนแรงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง โดยยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 0.3%MoM ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 0.5% และชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 1.6% รวมถึงตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 742,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากระดับ 709,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 710,000 ราย

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ -6.4%YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ -8.8%YoY และไตรมาสก่อนที่ -12.1%YoY หรือคิดเป็นการขยายตัว 6.5%QoQsa พร้อมกันนี้ สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2020 ดีขึ้นมาที่ -6.0% จากประมาณการครั้งก่อนที่ -7.5% และคาดว่าในปี 2021 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในช่วง 3.5%-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และแรงสนับสนุนจากการเบิกจ่ายภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ธปท.ได้ออกมาตรการเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย เพื่อช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท. จึงมีมาตรการ

1) เพิ่มเสรีให้คนไทยสามารถฝาก และโอนเงินระหว่าง FCD ได้อย่างเสรี รวมถึง

2) ให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้จากเดิม 0.2 ล. ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี เป็น 5 ล. ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี

3) ให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนทำการซื้อขายซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ ธปท.ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปิดสัปดาห์ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก โดยก่อนที่ธปท. จะออกมาตรการเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เราเห็นนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังจากมาตรการที่ ธปท. ประกาศออกมา เราคาดว่าผลกระทบต่อเงินทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยจะไม่มากนัก ทำให้ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.55% 0.65% 0.86% 1.10% และ 1.41% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเห็นแรงเข้าซื้อในหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง A- ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1-8 bps

การระบาดของไวรัสยังกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดตามการเจรจา Brexit

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 5,282 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 11,233 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,850 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 899 ล้านบาท