posttoday

อำนาจตลาด ขุมทรัพย์หลังโควิด (ของกลุ่มทุน)

17 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

รัฐบาลผู้มีอำนาจทางการบริหาร และอำนาจทางการเมืองของประเทศจะมีความเข้มแข็ง มีพลังเพียงพอกับการต่อสู้กับกระแสการก่อตัวของการสร้างอำนาจตลาด (หรือจริง ๆ ควรใช้คำว่า อำนาจเหนือตลาด) ได้แค่ไหน คงจะเป็นประเด็นที่ต้องจับตาติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาต่อไป แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อำนาจเหล่านี้ดูเหมือนจะมีลักษณะที่เกื้อกูล (Complement) กันมากกว่าการทดแทนกัน (Substitute) ซึ่งก็จะทำให้การถ่วงดุลให้เกิดความสมดุลของอำนาจเกิดขึ้นได้ยาก การขยับของทุนขนาดใหญ่เพื่อเข้าครอบครองสัดส่วนตลาดโดยการซื้อ หรือควบรวมกิจการกลายเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น มากขึ้น (มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ตามปกติ) แม้ว่ากระบวนการนั้นอาจจะใช้เวลาสั้นหรือยาวแตกต่างกันไป และแม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีความเหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ดังที่เรียกกันว่าเป็น "ความปกติใหม่ หรือ New Normal" ก็ตาม การแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์โดยอาศัยความได้เปรียบจากการมีอำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นได้เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจที่มีการกำกับดูแลที่หละหลวม มีความอ่อนไหวต่อการทุจริตคอรัปชั่น และกฎระเบียบในการกำกับดูแลปรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการดังกล่าวเป็นการเคลื่อนย้าย (Shift) หรือจัดสรร (Allocate) ของทรัพยากรการผลิต ซึ่งในที่นี้หมายถึงทรัพยากรประเภททุน ที่จะกระจายไปในสาขาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายของทุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนขนาดใหญ่ที่มีความได้เปรียบหลายประการ) ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีเงื่อนไขที่ "ไม่เป็นปกติ" หลายประการที่อาจจะทำให้ผลจากการเคลื่อนย้ายของทุนทำให้เกิดการสร้างหรือส่งเสริมให้มีอำนาจตลาด และการมีอำนาจตลาดนี้เองที่เป็นเงื่อนไขของการใช้อำนาจเหนือตลาดหรืออำนาจผูกขาดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) หรือส่วนเกินกำไรทางเศรษฐกิจ เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และลดทอนสวัสดิการสังคม (เกิด Welfare loss) ของประเทศโดยรวมจากการขาดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจหลายสาขาในประเทศไทยดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทิศทางนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการให้บริการการติดต่อสื่อสาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจด้านพลังงาน และอีกหลากหลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป ซึ่งก็คงต้องฝากความหวังไว้กับหน่วยงาน หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจผูกขาดในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็อดเป็นห่วงเป็นกังวลไม่ได้เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การสะสมของทุน (หรือการสร้างความร่ำรวย) ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนไม่น้อยเลยที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาผลประโยชน์จากการมีอำนาจเหนือตลาด หรือมีอำนาจผูกขาด

ศักยภาพที่แตกต่างกัน (มาก) ระหว่างนายทุนขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้การแข่งขันในตลาดลดน้อยลงจากการปิดตัวลงของธุรกิจจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้ บางส่วนอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจประเภทอื่นตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กระบวนการปรับตัวในลักษณะนี้คงจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรถ้าการปรับตัวนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนในช่วงที่เศรษฐกิจยังดำเนินไปอย่างเป็นปกติ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบที่ฉับพลันและรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ (Shock) และยังมีผลกระทบต่อเนื่องทำให้โครงสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย เช่น การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) การทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ธุรกิจต้องเผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงมากขึ้น ฯลฯ จนเรียกได้ว่าเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้น

คงจะปฏิเสธได้ยากว่าในช่วงเวลาที่มีวิกฤติเกิดขึ้นนั้น ผู้ที่มีเงินทุนมากกว่าย่อมมีความสามารถที่ดีกว่าในการรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ เรียกกว่ามี "สายป่าน" ยาวกว่า ยิ่งถ้าเป็นทุนขนาดใหญ่ มีเงินทุนเหลืออยู่มาก ก็จะมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อธุรกิจที่ดีได้ในราคาถูก หรืออาจจะเป็นการเข้าไปครอบครองธุรกิจเพื่อลดหรือกำจัดคู่แข่งได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งทั้ง 2 เหตุผลล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่เป็นการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ สร้างโอกาสที่จะแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ส่วนเกินทางเศรษฐศาสตร์เมื่อสามารถมีอำนาจเหนือตลาดได้ จึงมีความสุ่มเสี่ยงมากที่เมื่อเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติได้แล้ว โครงสร้างตลาดในระบบเศรษฐกิจจะเป็นโครงสร้างที่มีความผูกขาดมากขึ้น และการกำกับดูแลก็มีแนวโน้มจะทำได้ยากมากขึ้นทั้งจากรูปแบบการใช้อำนาจเหนือตลาดที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การใช้ความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลส่วนบุคคล (Private Information) ฯลฯ และความไม่พร้อมหรือไม่เพียงพอของบุคคลากรในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจผูกขาด

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลกจนทำให้ต้องมีการดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงิน และอาจจะสนับสนุน ประคับประครองให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งการใช้มาตรการทางการเงินในลักษณะเดียวกันนี้พร้อม ๆ กันในหลายประเทศเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และเป็นการกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยังมีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง สภาพดังกล่าวทำให้ต้นทุนทางการเงินของเงินทุนต่ำมาก ผู้ที่มีเครดิตหรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้จำนวนมากและเข้าถึงได้ง่าย จะมีความได้เปรียบอย่างมาก และเป็นโอกาสดีที่จะใช้ความได้เปรียบนี้เสริมสร้างอำนาจตลาดให้กับธุรกิจของตน หรือการสร้างอาณาจักรสำหรับธุรกิจใหม่ที่สนใจ

ในขณะเดียวกัน ปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังกดดันให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยงบประมาณจำนวนมากตามขนาดของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมาตรการทางการคลังเพื่อการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นมักจะเป็นมาตรการที่ต้องระบุเป้าหมาย (Targeted Policy)

ดังนั้น การดำเนินมาตรการทางการคลังจึงต้องมีความระมัดระวังไม่ให้การดำเนินมาตรการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม มากกว่าการให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง การให้ความช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อกับผู้ประกอบการ การแทรกแซงตลาดตราสารหนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เป็นตัวอย่างของมาตรการที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าในทางปฏิบัติจะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่ามาตรการที่ดำเนินการนั้นจะไม่เป็นการเอื้อ หรืออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มทุน ซึ่งสามารถใช้ความได้เปรียบนี้ในการสร้างและสั่งสมอำนาจตลาดเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจผูกขาดต่อไป สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นทั้งโอกาสที่ดี และเอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดจากการสะสมอำนาจตลาดได้อย่างมาก ก็คงจะต้องเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ในหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้ได้ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เกิดการใช้อำนาจผูกขาดในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะให้ได้อย่างดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากต่อการปฏิบัติหน้าที่