posttoday

ในปี 2564 เรายังคงต้องอยู่กับมัน...

16 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 46/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

COVID-19 ยังคงฉุดรั้งการเคลื่อนไปข้างหน้าของระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความทุกข์ยากของคนชั้นล่าง สร้างปัญหาให้คนชั้นกลางส่วนบนต้องประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ คนชั้นกลางตรงกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือน รับจ้างทำงานอิสระประสบปัญหา income shock รายได้หายจากการถูกบังคับด้วยกติกาของความปลอดภัยด้านสุขภาพ คนชั้นล่าง คนที่มีรายได้น้อย พึ่งพารายได้รายวัน รายสัปดาห์ ต่างถูกลดชั่วโมงการทำงาน

ในประเทศของเราเองตามตัวเลขสถิติ เรามีคนว่างงานอยู่แล้ว เห็นๆ กันเกือบแปดแสนคน ตามด้วยคนที่ทำงานน้อยกว่าสี่สิบชั่วโมงต่อสัปดาห์กว่าอีกสองล้านคน รวมๆ กันคือคนที่จะมีรายได้น้อยลงหรือไม่มีงานไม่มีรายได้กว่าสามล้านคน คนวัยหนุ่มสาวที่กำลังทยอยจบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานต่างเจอภาวะไปต่อได้ยาก ถึงยากมาก ธุรกิจประเทศเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว

เรามีนักท่องเที่ยวปี 2562 เกือบสี่สิบล้านคน พอปี 2563 เราน่าจะได้นักท่องเที่ยวเกือบหกล้านคน ปีหน้า 2564 เราประมาณกันว่าจะได้นักท่องเที่ยว?แปดล้านคน มันคือ 20% ของที่เราเคยได้ แม้ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงมีการใช้จ่ายมาก แต่มันมาชดเชยไม่ได้ คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีรายได้จากทางไหน จะหมุนจะหนีออกไปได้อย่างไร กล่องดวงใจของประเทศคือการท่องเที่ยว การส่งออก มันถูกกระแทกเต็มแรง อาจไม่เจ็บร้ายแรงเพราะเรามีหมอที่ดีมากๆ แต่อาการจุกที่นาน นานจนหายใจได้ยากลำบาก

ขณะเดียวกันคนที่เจ็บและจุกหายใจลำบากกลับพบว่าหลังของเค้าเหล่านั้นต้องแบกกระสอบหนี้ ซึ่งหนักเบาก็ต่างกันไป ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าหนี้ครัวเรือนไทยมีสูงถึง 13.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 27% เป็นหนี้เพื่อการบริโภคคือกู้มากินใช้หมดไปซึ่งสูงมากๆ

ในปี 2564 เรายังคงต้องอยู่กับมัน...

ในช่วงแรกของการเกิดผลกระทบทุกประเทศทุกรัฐบาลต่างทำสิ่งที่เหมือนๆกันคือ

(1) สั่งให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ผู้คนต้องมาเจอหน้ากันสัมผัสกัน

(2) กู้เงินมาแจกจ่ายคนที่ช่วยเหลือตนเองได้ยาก คนชั้นล่าง คนมีรายได้น้อย มากน้อยต่างๆ กันไป

(3) สั่งให้มีโครงการชะลอการชำระหนี้ได้แต่ไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระมีทั้งเลื่อนการชำระหนี้ ลดยอดการชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เรียกว่ามหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้กันเลยแหละ

มาถึงเวลานี้ เวลาที่มาตรการจะหมด การช่วยเหลือแบบปูพรมทุกคนได้ก็หมดไป หลวงท่านคงช่วยได้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่อง กระตุ้นแบบรัฐร่วมจ่ายเวลาจะซื้อหาอะไรบางสิ่งอย่างเช่นจะไปเที่ยว จะไปกินไปใช้ กิจกรรมแบบ co-payment คงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดึงเงินในกระเป๋าคนที่มีออกมาจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจจะได้คึกคัก หากแต่ว่าเรื่องใหญ่สุดมันยังไม่จบครับ โรคระบาดยังคงมีอยู่ และประเทศเราจะปิดสนิทแบบไม่ยอมให้เกิดความเสี่ยงการติดเชื้อก็ไม่ได้ การแพร่ระบาดรอบสองมีโอกาสเกิดเยอะ แต่ตั้งจัดการให้ได้ที่เราเรียกว่า "สถานการณ์ที่ต้องอยู่กับมัน" คือความจริงของชีวิต ขอเพียงอย่าล้นทะลุขีดความสามารถทางสาธารณสุขของเราเป็นใช้ได้ ตัวอย่างเช่น ภาพที่ผู้เขียนนำมาแสดงจาก FB.SiamtownUS ที่เขียนเตือนคนไทยในสหรัฐอเมริกาว่ากำลังจะเจอกับอะไร อยากให้ท่านลองอ่านแล้วคิดตามว่าถ้าเป็นเราและเกิดกับเมืองเราในปลายปีนี้ต่อปีหน้า จะคิดหาหนทางกันอย่างไรกันครับ มาตรการทางการปรับโครงสร้างหนี้จะทำกันอย่างไร จะมากพอหรือไม่ จะเร็วพอหรือไม่ จะทันกับชีพจรธุรกิจที่แผ่วลงหรือไม่

เตือนใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา อย่าการ์ดตก สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในช่วงที่น่ากังวลใจที่สุด โดยเฉพาะช่วง Dark Winter เข้าเทศกาลต่างๆ ปลายปีนี้ ไล่ตั้งแต่ Thanksgiving วันขอบคุณพระเจ้า วันคริสต์มาส วันส่งท้ายปีเก่าและฉลองปีใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการเดินทางไปมาหาสู่ หรือพบญาติกันตัวเลขล่าสุด สหรัฐอเมริกามียอดคนติดเชื้อเกินแสนคน มาตลอดหลายวัน ส่วน รัฐเท็กซัสมีคนติดเชื้อสะสมแล้ว 1 ล้านคน ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังจะตามมา ส่วนรัฐในตอนกลางของอเมริกา ก็มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ

คำสั่งจากหลายๆ เมืองล่าสุดมีดังนี้

- นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้าน

- เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ แนะนำให้ประชาชนอยู่บ้าน ให้ออกนอกบ้านไปทำงาน โรงเรียน หรือธุระสำคัญ และห้ามรวมกลุ่มเกิน 10 คน เริ่ม 16 พฤศจิกายน 2563 นี้

- ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน เซ็นคำสั่งให้อยู่บ้านให้ได้มากที่สุด งดรวมกลุ่มยกเว้นครอบครัวเดียวกันในบ้าน

- ศาลเมือง El Paso รัฐเท็กซัส ขยายคำสั่งให้อยู่บ้านไปจนถึง 1 ธันวาคม 2563 หลังรัฐเท็กซัสยอดพุ่งไม่หยุด

และเชื่อว่าอีกหลายเมืองหรือหลายรัฐจะมีคำสั่งตามมาเรื่อยๆ หลังจากวันนี้ไป

เมืองหนาวจะหนักเพราะอากาศเอื้อต่อการแพร่ระบาด เมืองร้อนอาจได้เปรียบแต่มันแค่ลดความเสี่ยง การใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลางแบบของใครของมันหรือตักแยกมาทานแต่นั่งร่วมกัน และอะไรต่อมิอะไรยังต้องต่อเนื่อง สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร งานหนักยังไม่มา อย่าร้องหาแต่ความช่วยเหลือเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ การ์ดอย่าตกครับ และเรา ท่าน จะผ่านเจ้าเชื้อนี้ได้

สุดท้ายของท้ายสุด ไม่มีใครรู้ว่าจบจาก COVID-19 แล้วเราจะเจอกับ COVID-24 COVID-25 อีกหรือไม่...