posttoday

ติดตามจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 และสัญญาณนโยบายการเงินของ ธปท.

16 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.50 โดยการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่นำไปสู่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในหลายรัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มล่าช้าออกไปจนหลังการเข้าทำงานของคองสภาคองเกรสชุดใหม่ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า สำหรับไทย รายงานจีดีพีไตรมาสที่ 3 ที่จะสะท้อนถึงการหดตัวน้อยลงจากการฟื้นตัวของการบริโภคและส่งออกจะสนับสนุนค่าเงินบาท ด้านนโยบายการเงินคาดว่า ธปท. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธนี้ แต่คาดว่าจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายต่อเนื่องจากความกังวลผลกระจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดในสหรัฐฯ และยุโรปที่รุนแรงขึ้นมากภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ที่ให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพมากถึง 90% บริษัท Pfizer และ BioNTech ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการเริ่มใช้วัคซีนได้จริงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอย่างไทย หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนแนวโน้มที่โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินในเอเชีย โดยระหว่างวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี นักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยสุทธิสูง 1.84 หมื่นล้านบาทและซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 3.07 หมื่นล้านบาท กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 และในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดกังวลสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ โดยความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ลดลงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดมีความกังวลสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนรายต่อเนื่องทำให้หลายรัฐในสหรัฐฯ ทั้ง นิวยอร์ค แมรี่แลนด์ มินเนโซต้า ไอโอว่า ยูทาร์และอีกหลายรัฐกำหนดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ด้านประธานเฟดโพเวลกล่าวในงานสัมมนาธนาคารกลางที่ซินทราว่าการค้นพบวัคซีนนั้นเป็นเรื่องดีสำหรับในระยะกลาง แต่เตือนว่าความไม่แน่นอนของวัคซีนยังสูงมาก ทั้งด้านระยะเวลา การผลิต การจัดจำหน่ายและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยบาทปิดตลาดที่ 30.18 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคงหนีไม่พ้นข่าวความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยตลาดเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงภายหลังจากที่บริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนีผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ผลมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ในการป้องกันไวรัสสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 0.975% อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯมากกว่า 1 แสนรายติดต่อกันเกือบ 2 สัปดาห์ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่13 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าสหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมจำนวน 10.9 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิต 2.48 แสนราย รั้งอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานเฟดที่แสดงความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงในปัจจุบันและมองว่ายังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในช่วงหลังวิกฤต ดังนั้น เฟดจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คุณโพเวลเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการการคลังเพิ่มเติม เช่นเดียวประธานเฟดสาขาดัลลัส ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าจะเผชิญอุปสรรคอย่างมาก โดยเน้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้เองจึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีอยู่ที่บริเวณ 0.88% ณ เวลา 16.00น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคมสูงขึ้นมาที่ 50.9 จาก 50.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น ทั้งด้านภาพรวมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และแนวโน้มรายได้ จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Steepening) กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง ซึ่งมาจากแรงเข้าซื้อเพื่อเกร็งกำไรในค่าเงินบาท รวมไปถึงความต้องการของนักลงทุนภายในประเทศ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยต่างประเทศ ทำให้ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.56% 0.67% 0.88% 1.12% และ 1.42% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นแรงเข้าซื้อในหุ้นกู้ระยะสั้นเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง AA- ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปีเป็นกลุ่มที่ credit spread มีการปรับตัวลดลงมากสุดอยู่ที่ 5-7 bps ส่วน credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม BBB+ ลงไปทรงตัวในระดับเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ติดตามจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 และสัญญาณนโยบายการเงินของ ธปท.

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านยังคงไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 19,076 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 13,788 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,518 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 230 ล้านบาท