posttoday

ผลกระทบของความเสี่ยงทางการเมืองต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างประเทศ

10 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ความเสี่ยงทางการเมืองถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงผลกระทบทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจในมิติต่างๆ เช่น ผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลต่อการลงทุนภายในประเทศ ผลต่อตลาดหลักทรัพย์ และผลต่อการท่องเที่ยว

นอกจากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยยังได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ ดังจะเห็นจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างประเทศ จึงเป็นมิติสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอๆ ทั้งในเชิงของการลงทุนทางตรง (FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (FPI) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ครับ

ในทางเศรษฐศาสตร์ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เพิ่มอัตราการจ้างงาน ยกระดับค่าจ้าง เสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียต่างให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในส่วนของการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ (FPI) แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นการลงทุนทางอ้อม แต่ก็มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญที่ใช้ในการลงทุนภายในประเทศทั้งรัฐบาลและเอกชน และช่วยลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ

ที่ผ่านมา ความเสี่ยงของประเทศที่เป็นจุดหมายของการลงทุน (Host Countries) ถูกกล่าวถึงในฐานะของปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยมิติของความเสี่ยงของประเทศ ประกอบด้วยความเสี่ยงจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนฯ ความเสี่ยงจากเสถียรภาพเศรษฐกิจ (เช่น เงินเฟ้อ) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ นอกจากนี้ความเสี่ยงเชิงนโยบายเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของรัฐบาล ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกกล่าวถึงโดยทั่วไป ซึ่งความเสี่ยงเชิงนโยบายเศรษฐกิจนี้มีลักษณะแตกต่างในแต่ละประเทศ เช่น กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงทางการเมืองจะแสดงออกผ่านความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี (ฝ่ายบริหาร) และรัฐสภา กรณีสหราชอณาจักร นโยบายการถอนตัวจากกลุ่มประชมเศรษฐกิจยุโรป (Brexit) ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา

ในกรณีของไทย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีการแสดงออกผ่านมิติต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วย การชุมนุมทางการเมือง (Protest) การใช้กฎอัยการศึก (Martial law) การปฎิวัติ (Coup) การเลือกตั้ง (Election) และการปฎิรูปการเมือง (Reform) ที่ผ่านมาในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีความสนใจศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของความขัดแย้งนี้ เช่น จากการศึกษาของผู้เขียนที่ผ่านมาใน Luangaram and Sethapramote (2018) "Economic impacts of Political Uncertainty in Thailand," PIER Discussion Papers พบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่ผ่านมาส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และต่อศักยภาพการเจริญเติบโตระยะยาว

นอกจากนี้ในการศึกษาลำดับต่อมา Luangaram and Sethapramote (2020) “Capital Flows and Political Conflicts: Evidence from Thailand” ได้ใช้ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมือง (PUI) จากการศึกษาของ Luangaram and Sethapramote (2018) เพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อเงินลงทุนจากต่างประเทศของไทย และพบว่า ผลจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยส่งผลต่อการลดลงของเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งทางตรง (FDI) และเงินลงทุนในตลาดการเงิน (FPI) โดยผลกระทบจะพบเฉพาะในช่วงที่ปัญหาอยู่ในช่วงที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ในขณะที่ช่วงที่มีความขัดแย้งอยู่ในระดับไม่สูงมาก ความเสี่ยงทางการเมืองจะไม่ส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลจากความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ ความขัดแย้งในเชิงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งกรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก และมีการปฎิวัติ จะส่งผลให้เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก ในขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วง และกระบวนการปฎิรูปที่มีความยืดเยื้อจะเป็นมิติสำคัญที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดการเงินจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาไม่พบว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในมิติของการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นแนวทางสำคัญในกรณีที่ความขัดแย้งไม่สามารถหาข้อยุติได้ การเลือกตั้งอาจะเป็นทางออกสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุดท้ายที่สุด ผมหวังว่าผลการศึกษาข้างต้น และการศึกษาวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองในมิติอื่น ๆ จะนำไปสู่การตระหนัก ทั้งต่อสาธารณะ ถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งเหล่านี้ และเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลและหลีกเลี่ยงการสร้างประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงร่วมกันแก้ไขต้นเหตุของความขัดแย้ง และแสวงหาแนวทางในการจัดการกับความขัดแย้งที่ส่งผลต่อประเทศชาติน้อยที่สุดครับ

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งที่กล่าวถีงอ้างอิงจากการศึกษาของ Luangaram and Sethapramote (2020) “Capital Flows and Political Conflicts: Evidence from Thailand” Economics of Peace and Security Journal (https://www.epsjournal.org.uk/index.php/EPSJ/issue/view/30 )