posttoday

หากคนรุ่นฟันปลอมกับคนรุ่นฟันน้ำนม จะฟังคนรุ่นฟันแท้ที่อยู่ตรงกลางพูดบ้างได้ไหม

09 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 45/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผู้เขียนได้พบข้อเขียนของคนรุ่นฟันแท้อายุประมาณ 27 ปี ทำงานมาสี่ห้าปี จบการศึกษาดี เคยไปโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เป็นลูกคนชั้นกลางพ่อทำงานออฟฟิศ แม่ทำการค้าขายเป็น SME ขนาดจิ๋ว บรรพบุรุษก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เขาได้พูดถึงความในใจแบบยอมรับว่ามีโอกาสทัวร์ลงในเฟซบุ๊กแต่เขาก็ยอมนำเสนอข้อคิดความเห็นบางท่อนบางตอนดังนี้

.. เรารู้ว่าหลายคนในสังคมเป็นคนมีสิทธิพิเศษ (privilege) มากๆ จนไม่ต้องสนใจสภาพการเมืองเวลานี้แต่ก็ยังอยู่สบาย ไม่ต้องออกมาพูด มาขยับก็ได้ นั่นก็อาจเพราะความเชื่อว่า "ทำตัวเราให้ดีก็พอ" ไม่คิดว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับตัวเอง เลือกจะไม่ให้เกี่ยวได้ หรือ "เท้าไม่ต้องติดพื้น" ไม่ต้องเดินเหินบนฟุตพาทแล้วน้ำเน่ากระฉอกใส่ ไม่ต้องเห็นภาพคนแก่นั่งขอทานตามสถานีขนส่งสาธารณะต่างๆ ในระยะประชิดให้ปวดใจ ไม่ต้องมาคิดว่าจะตกงาน หรือ ไม่ตกงานเพราะเป็นลูกหลานเจ้าของกิจการ มีที่ดิน มีทรัพย์สินสำรองไว้ยามฉุกเฉินอย่างเพียงพอ เมื่อใดที่ได้มานั่งทบทวน privilege ในชีวิตที่ตนเองมีแต่คนอื่นไม่มีมันจะทำให้เข้าใจได้ว่า "ทำไมคนอื่นเขาต้องออกมาเรียกร้อง" และมีข้อเสนอมากมาย? อยากลองให้คิดตามเป็นข้อๆ ดังนี้

1. สังคมไทยที่เราเติบโตมามักสอนให้เรามองอะไรแบบโทษปัจเจก โทษว่าคนจนเพราะจนเลยเครียด เครียดเลยกินเหล้า ไม่อดออม ภาพจำของคนมีฐานะหลายคนรอบตัวเรา คือ คนจนเป็นคนไม่ขยัน คนมีฐานะดีกว่ามักชอบสั่งสอนเขา แต่เราไม่สอนภาพกว้างให้เกิดความรู้และเข้าใจ เรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคมว่าครอบครัวจำนวนมากหาได้ไม่พอใช้จะเอาที่ไหนไปออม?

2. หลายคนพูดกับเราเสมอมาว่าใครบริหารประเทศนี้ก็ไม่ดีทั้งนั้นให้ "เริ่มที่ตัวเรา" หากแต่เราเริ่มที่ตัวเรามานานเกินไปแล้ว เราทำงานเกือบสี่ปี? เราจ่ายภาษี ช่วยเหลือคนที่ลำบากรอบตัว แต่ให้เริ่มที่ตัวเราอีกสัก 100 ครั้ง มันก็พังเหมือนเดิมถ้าสังคมเราไม่ปรับขยับไม่ปรับโครงสร้างให้รองรับคนจำนวนมากขึ้นที่กำลังลำบากของสังคมเสียที มีคนทำธุรกิจร่ำรวยคนนึงเคยบอกเราว่า "จะทำเพื่อสังคมทำไม รอรวยก่อนสิค่อยทำ ค่อยเอาเงินไปแจก ไปทำบุญ" ฟังแล้วมันก็อึ้งนะเหมือนเขามองการให้เป็นแค่การกุศล ทั้งที่ถ้าเราทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ ธุรกิจเขาก็จะยิ่งมีฐานลูกค้ามากขึ้นหรือไม่

3. ดังนั้นก่อนจะบอกใครให้ขยัน ให้สู้ ให้พยายาม ต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าถ้าไม่ได้เกิดในครอบครัวตัวเองที่มีฐานะร่ำรวยทุกวันนี้ก็อาจไม่ได้มีความสุขสบายรายล้อม ยอมรับก่อนว่าที่ได้มาเพราะว่าโชคที่เกิดมาในบ้านที่มีทรัพยากรมากพอบวกการมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม

4. โครงสร้างสังคมมันกดทับคนให้คนจำนวนมากต้องยากจนตลอดชีวิตแบบที่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากขึ้นทุกๆ ที เราเคยอ่านงานเขียนชิ้นนึงจำไม่ได้ว่าที่ไหนแต่เค้าสรุปความเท่าเทียมไว้ว่า "ความเท่าเทียมต้องไม่ใช่แค่การขีดเส้นหาค่าแรงขั้นต่ำ (ว่าคนไทยได้ 15,000 บาท คือโอเคแล้วพอแล้ว) แต่คือการขีดเส้นจากคนที่รวยที่สุดในสังคมลงไปถึงคนที่จนที่สุดแล้วดูว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งพื้นฐานในสังคม อย่างการศึกษา และขนส่งสาธารณะมันสะดวก คุณภาพดี และราคาเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคนในสังคม"

5. คนรุ่นฟันปลอม รุ่นฟันแท้เชื่อจริงหรือไม่ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กฉลาดชาติเจริญ ถ้าเชื่อว่าเขาคือ อนาคต เขาคือคนที่จะมารับผิดชอบสังคมในอนาคต แล้วทำไมถึงเกี่ยงงอนที่จะฟังเสียงของพวกเขาเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น เวลาเห็นเราๆ ท่านๆ เห็นข่าวเด็กวัยรุ่นกระทำความรุนแรง อยากให้ลองคิดว่าที่เด็กหลายๆ คนเค้าต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทยมันเพราะว่าเด็กไม่รักดี หรือ เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นเลยว่าความหมายของคำบอกว่า "ดี" มันคืออะไร เป็นไปได้ไหมว่าเขาที่สร้างความรุนแรงนั้นอยู่ในระบบการศึกษาที่เขาพ่ายแพ้ และอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะเขาขึ้นมาจนเป็นแบบนี้ผู้ใหญ่หลายคนทนไม่ได้กับการที่เห็นเด็กเล็กถูกทำร้าย แต่กลับบอกให้จัดการเลยกับเด็กรุ่นฟันน้ำนมที่เวลานี้ลุกขึ้นตั้งคำถามที่กระอักกระอ่วนใจที่จะตอบ บางทีลึกๆ แล้วมันคือคำถามเดียวกันที่ตนเองก็ไม่ชอบ และอยากตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ระบบการให้การศึกษาแก่ผู้คนมันจะดีกว่านี้ได้หรือไม่ ระบบการขนส่งมวลชนมันควรมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมกว่านี้ไหม ทำไมเราทำฟุตพาทให้ดีเพื่อให้คนเดินที่ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ เป็นต้น

คนรุ่นฟันปลอมอาจต้องตอบคำถามว่าเรากำลังจะส่งมอบสังคม ค่านิยมแบบไหนให้คนรุ่นฟันแท้ และจะอยู่ร่วมกันคนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายโดยไม่คิดใช้อารมณ์ คำพูด กำลังกาย หรืออาวุธ หักหาญเอากับคนที่เห็นต่างได้หรือไม่

ผู้เขียนคิดว่า ในบทสรุปของการเดินทางต่อไป ในท่ามกลางความโกลาหลของ ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาการทำมาหากินการสร้างรายได้ ปัญหาภาระหนี้สิน ปัญหาการรักษางานเอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องระดับปัจเจก ปัญหาด้านค่านิยมก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ไม่ว่าวัยไหนจะต้อง

(1) ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ใครทำกับใคร ยิ่งพวกบ่างช่างยุ ยิ่งพวกชอบทำให้สังคมเคลื่อนไหวในทิศทางตามความเชื่อตัวเอง เจ้าพิธีในการจัดคนโน้นมาชนคนนี้ ซึ่งเราจะพบว่ามีการจัดสร้างพิธีกรรมมากมายทั้ง Online/Offline ในเวลานี้

(2) เราไม่สามารถเงียบต่อความเหลื่อมล้ำ ต่อการย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังกันได้อีกแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีศักภาพและอยู่ในฐานะที่ดีกว่าคนอื่นตามที่ตนได้รับมาไม่ว่าโดยครอบครัว โดยธุรกิจ โดยอำนาจของกฎหมาย หากท่านมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนก็ตาม ลองคิดดูว่าท่านอยากอยู่กันในสังคมแบบไหน อยากส่งต่ออะไรให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต เพราะเราไม่มีสิทธิทำให้สังคมมันแย่ลง ด้อยลงกว่าตอนที่เราได้รับมาจากคนรุ่นก่อน

ผมมีข้อความหนึ่งจากหนังสือ ปัญญา (ฝ่า) วิกฤติ ศิลปะแห่งการรับมือกับวิกฤติในช่วงเวลาท้าทายที่สุดของชีวิตที่ระบุว่า "เห็นภาพใหญ่ กำหนดทิศ ตัดสินใจ" มาฝากยังทุกท่านที่ให้ความอนุเคราะห์อ่านบทความนี้ครับ