posttoday

โอกาส SME ไทยเจาะตลาดขนมขบเคี้ยวในอินโดนีเซีย

04 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ชี้ช่อง เอสเอ็มอีไทย เข้มแข็ง โดย...สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

โอกาส SME ไทยเจาะตลาดขนมขบเคี้ยวในอินโดนีเซีย

คอลัมน์ ชี้ช่อง เอสเอ็มอีไทย เข้มแข็ง โดย...สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

อินโดนีเซีย คือตลาดผู้บริโภคมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสเจาะตลาดผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียได้คือ ขนมขบเคี้ยว โดยในปี 2562 มีการเติบโตอยู่ที่ 1.05 พันล้านดอลลาร์ และมีโอกาสขยับไปอยู่ที่ 1.73 พันล้านดอลลาร์ได้ในปี 67 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขนมขบเคี้ยวมีโอกาสทางตลาดมาจาก

1) พฤติกรรมนิยมการเลี้ยงสังสรรค์บ่อย และนิยมทานขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารว่าง ทำให้ความต้องการขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น

2) การเติบโตของร้านสะดวกซื้อ ที่เป็นช่องทางจำหน่ายหลักของขนมขบเคี้ยว เนื่องจากตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวนำเข้าจากต่างประเทศ

3) สัดส่วนของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่เปิดกว้างสำหรับขนมขบเคี้ยวนำเข้าที่มีความแปลกใหม่กว่าที่ผลิตได้ในประเทศ

โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นขนมขบเคี้ยวฮาลาล เช่น ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว รองลงมาคือ ขนมขบเคี้ยวจากพืชผัก-ผลไม้แปรรูป มันฝรั่งทอดกรอบและขนมขบเคี้ยวท้องถิ่น ป๊อปคอร์น ในขณะที่ขนมขบเคี้ยวจากเนื้อสัตว์ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก สำหรับปี 2563 เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลต่อการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทั้งของตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศ และการนำเข้าเข้าขนมขบเคี้ยวของอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

เทรนด์การบริโภคขนมขบเคี้ยวของชาวอินโดนีเซีย พบว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ และมากกว่า 90% ของประชากรคือชาวมุสลิม สินค้าขนมขบเคี้ยวที่จะตอบสนองความต้องการในตลาด ได้แก่ ขนมขบเคี้ยวฮาลาล ที่มีจุดขายด้านนวัตกรรมการผลิตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง ปรุงแต่งน้อย ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ยังคงรสชาติที่อร่อย ถูกปาก แปลกใหม่จากสินค้าท้องถิ่น หรือโดดเด่นด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตาและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่ ในราคาที่คุ้มค่า สำหรับไทย ขนมขบเคี้ยวที่มีศักยภาพและเริ่มติดตลาดในกลุ่มผู้บริโภคแล้ว ได้แก่ ขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่าย ผักผลไม้และธัญพืช/ถั่ว แปรรูป โดยกรรมวิธีทอดหรืออบกรอบ เป็นต้น แม้ว่าจะมีโอกาสทางการตลาดอยู่สูง แต่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1) กฎระเบียบที่เข้มงวดและเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยล่าสุดรัฐได้ออกพระราชบัญญัติการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล ซึ่งกำหนดให้ตลอดการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดจะต้องได้รับการรับรองฮาลาลผ่านหน่วยงานของอินโดนีเซียเท่านั้น

2) ตลาดขนมขบเคี้ยวในอินโดนีเซียมีการแข่งขันสูง ทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศ และจากคู่แข่งจากประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ จีนและคู่แข่งหน้าใหม่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากและภักดีต่อแบรนด์ต่ำ

3) การกระจายสินค้าค่อนข้างลำบาก จากข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ ทำให้มีต้นทุนด้านขนส่งสูง

ผมมองว่าปัจจัยที่จะให้ผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดผู้บริโภคอินโดนีเซียได้ นอกเหนือจากการสร้างความแตกต่างแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ ก็คือการยื่นขอรับรองมาตรฐานฮาลาลจากหน่วยงานรัฐของอินโดนีเซียรวมถึงการติดต่อและสร้างพันธมิตรทางการค้ากับผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นโดยตรง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในการประสานงานด้านการกระจายสินค้าและการทำตลาดในอินโดนีเซียที่มีความเฉพาะเจาะจงอย่างมากครับ