posttoday

มา Rebalancing ปรับสมดุลพอร์ตลงทุนกันไหม

05 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง โดย...พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM กองทุนบัวหลวง

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจลงทุนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ต่างๆ และการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยมักได้รับคำแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation) ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเภทกัน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใด สินทรัพย์หนึ่ง มากจนเกินไป ตามประโยคยอดฮิตที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียวกัน (Don’t put all eggs in one basket)”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้นักลงทุนเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนกันมากขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มักจัดพอร์ตการลงทุนแค่เพียงครั้งแรกเท่านั้น โดยเริ่มต้นจากกำหนดเป้าหมายในการลงทุน ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง จากนั้นก็จัดพอร์ตการลงทุน ด้วยการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทให้สอดคล้องกัน ยกตัวอย่าง นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและมีเป้าหมายลงทุนระยะยาว สัดส่วนการลงทุนที่แนะนำสำหรับนักลงทุนกลุ่มนี้ คือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น หรือกองทุนหุ้นได้ประมาณ 50%

ประเด็นสำคัญ ก็คือ เมื่อจัดพอร์ตลงทุนไปแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่กลับมาดูความคืบหน้าของผลตอบแทน แต่ไม่ทันได้สังเกตถึงมูลค่าของเงินที่ เติบโต หรือ ลดลง จนทำให้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทของพอร์ตลงทุนที่จัดไว้ก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่าง นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง เริ่มต้นจัดพอร์ตลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท จึงกำหนดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 50% เป็นเงิน 50,000 บาท และตราสารหนี้ 50% เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาตลาดหุ้นเติบโตให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 10% เงินลงทุน 50,000 บาท จะเติบโตเป็น 55,000 บาท ตลาดตราสารหนี้เติบโต 1% เงินลงทุน 50,000 บาท จะเติบโตเป็น 50,500 บาท สัดส่วนการลงทุนจาก 50-50 จะกลายเป็นหุ้น 52.13% ตราสารหนี้ 47.87% ทำให้ภาพรวมของพอร์ตลงทุนนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ดังนั้น สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาปรับสมดุล หรือที่เรียกว่า Rebalancing โดยต้องคอยดูสินทรัพย์หลักในพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดและควบคุมความเสี่ยง วิธีการนี้เรียกว่า SAA : Strategic Asset Allocation คือ พิจารณาขายคืนสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกินขึ้นมา หรือเลือกซื้อเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดลงไป เพื่อให้พอร์ตลงทุนกลับสู่สมดุลตามเดิม ซึ่งกรณีนี้ ก็อาจพิจารณาลดสัดส่วนกองทุนหุ้นด้วยการขายคืนตามมูลค่าที่เกินมาออกไป หรือเลือกสับเปลี่ยนมูลค่าที่เกินมานี้ไปยังกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือไปซื้อกองทุนตราสารหนี้เพิ่ม เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาเป็นเหมือนเดิม คงระดับความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงของพอร์ตสูงเกินกว่าที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

ทั้งนี้ การปรับสมดุล หรือ Rebalancing ผู้ลงทุนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยการซื้อ-ขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ด้วยตัวเอง ซึ่งกรณีนี้ผู้ลงทุนต้องวางแผนการลงทุนให้ดี เพราะสภาพคล่องของสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน ในทางตรงกันข้ามการลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าจะไม่สามารถเลือกสินทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายตัวได้ แต่กองทุนรวมนั้นได้เปรียบเชิงสภาพคล่อง และทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย จึงเหมาะกับผู้ลงทุนทุกคน

โดยผู้ลงทุนสามารถจัดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ด้วยการเลือกกองทุนที่ชอบ และกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนไปในแต่ละกองทุน หรืออาจเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายแบบผสมไว้แล้วก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนผสมที่กำหนดสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนหลักไว้ให้แล้ว ชื่อว่า B-MAPS : Bualuang Multi – Asset Portfolio Solutions ที่มีสินทรัพย์การลงทุนผสมผสานระหว่างหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ โดยกำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์หลัก คือ หุ้นไว้ที่ 25%, 55%, 100% ชื่อว่า B-MAPS25, B-MAPS55, B-MAPS100 จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการปรับสมดุล หรือ Rebalancing ความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดแต่ไม่มีเวลา